กลอยเป็นพืชสกุลหนึ่งที่มีขยายพันธุ์ทั่วไปในทุกทวีปของโลก โดยแต่ละชนิดก็มีคุณลักษณะแตกต่างกันไป ส่วนในประเทศไทยเรานั้น ได้มีการค้นพบและบันทึกพืชสกุลกลอยไว้มากกว่า 40 ชนิดนี้ และถูกนำมาใช้ในการประกอบเป็นอาหารเป็นส่วนใหญ่ มีเพียง 3ชนิดที่ถูกพัฒนาเพื่อใช้เป็นสมุนไพรในการรักษาแผนไทยและนำไปใช้ในตำรับยาแผนไทย
กลอยเป็นพืชเถาไม่มีมือเกาะ ลำต้นกลมมีหนาม หัวใต้ดินมีหัวกลมและหัวรียาวแล้วแต่ชนิด เปลือกสีฟางหรือเทา เนื้อขาวหรือเหลืองอ่อนอมเขียว มีความเป็นพิษ กลอยสามารถพบได้ทั่วไปในเขตป่าฝนและในเขตร้อน ในหัวกลอยมีสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรดเป็นส่วนประกอบหลัก และมีสารพิษที่ชื่อว่าไดออสคอรีนอยู่ด้วย โดยปริมาณสารพิษจะขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่เก็บเกี่ยวนะครับ
หากเราไปเก็บเกี่ยวหัวกลอยช่วงฤดูฝนที่กลอยกำลังผลิดอกเมื่อไหร่ละก้อ พิษเยอะเลยครับ ดังนั้นเลี่ยงการเก็บในช่วงเดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนตุลาคมจะดีที่สุด การเก็บเกี่ยวหัวกลอยเพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นพิษสูง เราจะเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูร้อนที่ให้หัวกลอยใหญ่เต็มที่และเถากลอยเริ่มแห้งตาย ทำให้ไม่มีพิษสูง เก็บหัวได้ง่ายเพราะโผล่เหนือดินแล้วครับ
ในประเทศไทยมีกลอย 5 ชิดที่เรานิยมนำมาปรุงเป็นอาหารเพื่อรับประทาน แต่ตัวเด่นๆ จะมีเพียง 2 ชนิด คือ กลอยข้าวเจ้า ที่ลักษณะสีของเถาและก้านใบมีสีเขียว เนื้อในของหัวกลอยหยาบ หัวมีสีขาวนวล อีกชนิดที่นิยมมากกว่ากลอยข้าวเจ้า ก็คือ กลอยข้าวเหนียว ที่ลักษณะเถาจะมีสีน้ำตาลเข้ม เนื้อในหัวมีสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้ม เนื้อเหนียว รสชาติอร่อยกว่ากลอยข้าวเจ้า และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากกว่า ทำให้มีตลาดที่ใหญ่กว่า
สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า หัวใต้ดินของกลอย ใช้แก้อาการปวดท้อง ทำเป็นน้ำมันใส่แผลก็ได้เพราะสามารถระงับอาการอักเสบจากแผลที่เป็นหนอง ใช้ขจัดฝ้าบนผิวหน้า ส่วนหัวกลอยที่ตากแห้งแล้วสามารถใช้ปรุงเป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย ขับปัสสาวะ แก้ปวดตามข้อ ฝีมะม่วง โรคซิฟิลิส รากของต้นกลอย สามารถนำมาบดผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใบยาสูบ ใบลำโพงหรือพริก ใช้ทาหรือพอกฆ่า หนอนในแผลสัตว์เลี้ยง
ในส่วนพิษของกลอยนั้น เมื่อได้รับพิษจากสารไดออสคอรีน จะเกิดอาการใจสั่น วิงเวียนศีรษะ คันคอ พะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อกาฬท่วม มือเท้าเย็น หน้ามืดเป็นลม บางรายอาจมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นชักและอาจสิ้นใจได้
ด้วยความรุนแรงของพิษกลอย เราจึงต้องให้ความสำคัญในการกำจัดสารพิษก่อนนำไปรับประทาน โดยนำกลอยไปล้างให้สะอาด ปอกเปลือกออก หั่นบางๆ แล้วตากแห้งไว้ เมื่อจะนำมาใช้ปรุงอาหารต้องนำมาใส่ภาชนะแล้วแช่ในน้ำไหลผ่าน 24 ชั่วโมง แล้วนวดให้เนื้อกลอยนุ่ม ก่อนนำไปตากให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำไปล้างผ่านน้ำไหลซ้ำอีก 3 ครั้ง แล้วค่อยนำมาปรุงอาหารครับ