สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การเพาะเมล็ด เกร็ดเล็กๆ ที่ควรรู้

หากพูดถึงเรื่องของการเพาะพันธุ์พืช ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเมล็ด การเพาะต้นกล้า ติดตา ตอนกิ่งหรือปักชำ เชื่อว่าเพื่อนๆ เกษตรกรมืออาชีพที่อยู่ในสายการปลูกพืชจะต้องรู้จัก ทำเป็นและทำเองกันทุกคน  เพราะถือว่าเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญของเราเลยครับ ผลผลิตของเราจะดีหรือไม่ก็ต้องเริ่มต้นจากขั้นตอนนี้กันเลยครับ

ประเด็นที่ยังพบเจออยู่เสมอในเรื่องการขยายพันธุ์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเมล็ดที่ส่งผลกระทบไปถึงการเพาะต้นกล้าด้วย ด้วยเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดพันธุ์ ที่ไม่แน่นอน ไม่คงที่ ถึงแม้จะใช้วิธีการเดิมทุกครั้งก็ตาม รวมไปถึงปัญหาต้นกล้าไม่สมบูรณ์ มีรากอ่อนแอ มีเชื้อราหรือเชื้อโรค ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลาย ๆ อย่างร่วมกันครับ

ต้นตอปัญหาของการเพาะเมล็ด คือ ระบบ “ราก” ที่งอกขึ้นมาจากเมล็ด ดังนั้นหัวใจของการเพาะเมล็ดที่เราต้องให้ความสำคัญก็คือ รากอ่อนที่งอกขึ้นมาจากเมล็ด ที่มีความบอบบาง อ่อนแอ โดยเราต้องหาทางควบคุมดูแลให้เหมาะสมตามสูตร ดิน น้ำ ลม ไฟ

ดิน หมายถึงดินเพาะเมล็ด ที่ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับรากอ่อน โดย ดินเพาะต้องสะอาด ปลอดสารเคมี เชื้อโรค หรือวัชพืช  มีค่ากรดด่างเป็นกลาง มีธาตุอาหารเหมาะสม ส่วนน้ำ คือเรื่องของความชื้นในดินที่ควรมีความชุ่มชื้นเหมาะสม ไม่แห้งเกินไปหรือมีน้ำขังมากเกินไปครับ ความชื้นในดินจะช่วยให้รากอ่อนดูดซึมธาตุอาหารในดินได้ดีขึ้นด้วย

ลม ในที่นี้เราหมายถึงลมในดินหรืออากาศถ่ายเทในดินนะครับ  เพราะรากอ่อนมีโอกาสรอดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอากาศหรือความโปร่งในดิน ถ้าดินเพาะแน่นเกินไป ไม่ร่วนซุย น้ำก็จะขังในเนื้อดิน ทำให้ รากอ่อนขาดอากาศหายใจและเน่าตายได้ ส่วนสุดท้ายคือเรื่องไฟหรืออุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกของเมล็ด ซึ่งแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ของพืช  ถาดเพาะเมล็ดพันธุ์บางชนิดจึงต้องแช่ตู้เย็น เป็นต้น

สำหรับการเพาะเมล็ดผักที่เพาะยากและใช้เวลานาน อย่างกระเทียม มะระ มะละกอ ขิง และผักชนิดอื่นๆ ที่เราอยากให้งอกเร็วกว่าปกติกันครับ แค่เพียงเรามีภาชนะพลาสติกที่มีฝาปิดสนิท แล้วนำกระดาษทิชชู่วางลงไปในภาชนะ แล้วนำเมล็ดพันธุ์ที่เราจะทำการเพาะวางลงไปบนทิชชู่ แล้วเราก็จะนำทิชชู่อีกแผ่นปิดไว้ด้านบน แล้วรดน้ำให้ชุ่ม อย่ารดจนแฉะนะครับ เสร็จแล้วเราจะต้องเขียนวันที่เพาะไว้ แล้วรอให้รากอ่อนงอก ก่อนที่เราจะนำไปเพาะต้นกล้าต่อไปครับ หากขั้นตอนแรกเราทำได้ดี ขั้นต่อๆไปก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้วครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook