ส้มป่อย นั้นเป็นพืชที่นิยมอย่างมากในภาคเหนือของไทย เป็นพืชพื้นบ้านของภาคเหนือซึ่งชาวบ้านจะนิยมนำใบอ่อนและฝักอ่อน ไปใช้ประกอบอาหาร และยังนำเอาไปใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนารวมถึงพิธีความเชื่อต่างๆ ของชาวล้านนา ถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง โดยเชื่อว่าส้มป่อยเป็นพืชที่สามารถปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ได้ ดังนั้นจึงถูกนำมาผสมในน้ำร่วมกับน้ำอบ เพื่อใช้เป็นน้ำมนต์ในพิธีต่างๆ รวมทั้งใช้ในการรดน้ำดำหัวในประเพณีสงกรานต์อีกด้วย
นอกจากนี้แล้วส้มป่อยนั้นยังมีประโยชน์ในด้านอื่นด้วย เช่น ผลส้มป่อยสามารถนำไปทำเป็นยาสระผม ไม่เพียงเท่านี้ส้มป่อยนั้นยังใช้เป็นพืชสมุนไพรรักษาโรคได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้รากของส้มป่อยในการรักษาอาการเจ็บคอขับเสมหะ รวมทั้งใช้เป็นส่วนประกอบของกลุ่มยารักษาโรคทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาแก้ความดันโลหิตสูง แก้ปวดเมื่อย แก้หวัด แถมยังสามารถใช้บำรุงผิวพรรณได้ด้วย ถึงแม้ส้มป่อยนั้นจะยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากในภาคอื่นๆ ของไทยเรา แต่หากเรานำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แล้วก็คงเป็นอีกสินค้าหนึ่งที่สร้างรายได้อย่างไม่น้อยเลยครับ
ส้มป่อยเป็นไม้พุ่มโดยมีลักษณะขึ้นเป็นเถาวัลย์ ลำต้นมีสีน้ำตาล มีขนนุ่มขึ้นปกคลุม และมีใบเรียงยาวขนานกันเป็นสองชั้น ปลายใบโค้งแหลมที่ปลายจะมีหนามโค้งมนอยู่เล็กน้อย โคนก้านใบจะมีสีน้ำตาลติดอยู่ที่ ดอกจะอยู่รวมกันเป็นช่อ กลีบดอกส้มป่อยจะมีสีขาวนวลราวกับสำลี ส่วนผลจะเป็นฝักมีลักษณะแบนยาวและหนา ฝักอ่อนจะมีสีเขียวอมแดง และเมื่อฝักแก่ต็มที่จะมีสีน้ำตาล ผิวขรุขระเป็นลอนคล้ายคลื่น
การขยายพันธุ์ส้มป่อย มักใช้วิธีการเพาะเมล็ดหรือปักชำลงดิน แต่เนื่องจากส้มป่อยในประเทศไทยเราเป็นส้มป่อยพื้นบ้านที่มีต้นพันธุ์อยู่แล้วแทบทุกภาค ส่วนใหญ่เราจึงใช้วิธีการปักชำในการปลูก โดยการปักกิ่งจะต้องใช้กิ่งแก่ของส้มป่อยที่แก่ มีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร และเตรียมดินที่ผสมปุ๋ยคอกกับปุ๋ยหมักไว้แล้ว ขอให้เป็นดินที่มีความชื้นที่เหมาะสม จากนั้นก็นำกิ่งที่ได้มาปักลงดินที่เตรียมไว้ได้เลยครับ แล้วเราควรรดน้ำเป็นประจำทุกวัน เมื่อลำต้นแตกรากแล้วจึงสามารถเปลี่ยนดินย้ายไปปลูกที่อื่นได้
ส้มป่อยนั้นจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นพอเหมาะ รับแสงแดดตลอดทั้งวัน และหากทำคานไว้เพื่อให้ส้มป่อยเลื้อยขึ้นได้อย่างเรียบร้อยขึ้นก็จะดีมากครับ เพียงเท่านี้ก็รอเก็บผลผลิตที่ปลูกได้เลยครับ จะนำไปปรุงอาหาร หรือเก็บฝักแห้งไปขายก็ได้ครับ