สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรกรรมด้วย IoT ร่วมกับกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา

การขาดแคลนน้ำและคุณภาพเป็นปัญหาสำคัญในหลายภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่น้ำมีความจำเป็นต่อการทำการเกษตร คาบสมุทรสทิงพระ ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ประกอบด้วย 4 อำเภอ ได้แก่ ระโนด สทิงพระ สิงหนคร และกระแสสินธุ์ เป็นพื้นที่ที่อาศัยน้ำต้นทุนหลักจากทะเลสาบสงขลาที่เผชิญความท้าทายจากการรุกล้ำของน้ำเค็ม โดยในช่วงฤดูแล้งซึ่งระดับน้ำในทะเลสาบลดต่ำลง ส่งผลให้คุณภาพน้ำไม่เหมาะสมต่อการนำไปใช้เพื่อการเกษตรกรรม และปัจจุบันยังไม่มีระบบแจ้งเตือนเกษตรกรล่วงหน้าถึงระยะเวลา และทิศทางการรุกตัวของน้ำทะเล เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพืชผลทางการเกษตรและที่เกิดขึ้นกับคุณภาพดินได้

คณะผู้วิจัยมีตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด กล่าวคือพื้นที่ส่วนใหญ่ของคาบสมุทรสทิงพระใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรมและด้านต่าง ๆ จากแหล่งเก็บกักน้ำหลักคือทะเลสาบสงขลา  ที่ผ่านมาทางคณะวิจัยได้ดำเนินการโครงการวิจัยเรื่องการบริหารจัดการน้ำชลประทานแบบมีส่วนร่วมสำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ ทำให้คณะวิจัยมีข้อมูลพื้นฐานในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรมและมีข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรกรรมในอดีต และมีแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อการชลประทานของพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ ทำให้สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวนี้มาใช้ต่อยอดได้

การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรกรรมด้วย IoT ร่วมกับกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา

สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยในโครงการ “การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรกรรมด้วย IoT ร่วมกับกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา” เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปริมาณน้ำในการเกษตรกรรมที่สามารถใช้การได้ในทะเลสาบสงขลา และแหล่งเก็บกักน้ำอื่นๆ บนผิวดินทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในอนาคต พัฒนาและติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพน้ำและความเค็มแบบอัตโนมัติ ศึกษาและวิเคราะห์ค่าความเค็มบริเวณจุดต่าง ๆ ของทะเลสาบสงขลา สร้างแบบจำลองเพื่อใช้ระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการวางแผนการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ต้นแบบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในอนาคต และเพื่อการวางแผนการเพาะปลูกของพื้นที่เกษตรกรรมในคาบสมุทรสทิงพระและจัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ

โครงการวิจัยนี้ได้นำเทคโนโลยีด้านเซนเซอร์ นวัตกรรมเทคโนโลยี IoT และอุปกรณ์วัดค่าความเค็มและปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติ มาใช้ในการเก็บข้อมูล พร้อมแสดงผลให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายภาคประชาชน ทุก ๆ 6 ชั่วโมงหรือตามที่ผู้ใช้ต้องการ ผ่าน smart phone application LINE และได้สร้างระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการวางแผนการเพาะปลูกพืชในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระบนพื้นฐานของข้อมูลจริงแบบเรียลไทม์ ทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้ ลดความเสียหายของพืชที่เกิดการขาดแคลนน้ำ และยังสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ ขณะเดียวกันยัง ทำให้การใช้น้ำในพื้นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดปัญหาความขัดแย้งของผู้ใช้น้ำในพื้นที่ลงได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook