ถ้าเอ่ยถึง มะยม ไม่ว่าจะเป็นสาวเล็ก สาวใหญ่ เชื่อว่าสิ่งแรกที่รู้สึกได้คืออาการเปรี้ยวปาก และตามมาด้วยภาพของตำมะยม หรือ พริกเกลือจิ้มกับมะยม ลอยเข้ามาในความคิด แต่ถ้าเป็นคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี อาจจะนึกถึงภาพของมะยมเชื่อมสีแดงๆ เสียบไม้ขายคล้ายเสียบลูกชิ้น ซึ่งนับวันจะหากิน แบบเสียบไม้ได้ยากขึ้นทุกที
แต่ถ้าเป็นต้นมะยมเป็นต้นๆแล้วล่ะก็ จะพบเห็นได้ง่ายดายโดยเฉพาะตามบ้านเรือนที่มีบริเวณไว้ปลูกต้นไม้ ถือว่าเป็นต้นไม้ประจำบ้านชนิดหนึ่ง เพราะนิยมปลูกเป็นไม้มงคล ตามความเชื่อแต่โบราณว่าจะช่วยป้องกันสิ่งไม่ดี และชื่อเป็นมงคล คล้ายกับคำว่า“นิยม” ที่เชื่อกันว่าผู้ปลูกจะได้รับความนิยมชมชอบ จากคนทั่วไป
มะยม เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ความสูง 2-9 เมตร เปลือกของลำต้นขรุขระมีสีเทาปนน้ำตาล มีใบประกอบ ใบย่อยออกเรียงสลับกันบนก้านใบเป็น 2 แถว มีดอกขนาดเล็ก ออกเป็นช่อตามกิ่ง ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลแก่จะเป็นสีเหลืองอ่อนๆ ในผลมีเมล็ดเดี่ยว ผลฉ่ำน้ำมีรสชาติเปรี้ยวจัด มะยมนั้นมีทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย โดยต้นตัวผู้จะออกดอกแต่ไม่ติดผล ส่วนต้นมะยมตัวเมียนั้นจะมีดอกน้อยแต่ออกผลเต็มต้น เรื่องสรรพคุณทางยาแล้ว ต้นตัวผู้มีสรรพคุณสูงกว่าต้นตัวเมีย
มะยมถูกจัดให้เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่มีสรรพคุณมากมายตามตำหรับยาพื้นบ้าน เช่น ผลมะยม ช่วยขับเสมหะ แก้เจ็บคอ เป็นยาระบายอ่อนๆ บำรุงโลหิต แก้ปวดกล้ามเนื้อ มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย ส่วนใบ ช่วยบำรุงประสาท ป้องกันเบาหวาน ช่วยลดความดันโลหิต นอกจากนี้ยังมีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ถึงสารออกฤทธิ์ต่างๆ ของมะยม เช่น พบวิตามินซีสูง มีสารช่วยต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อรา ต้านเชื้อแบคทีเรีย และ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด กระตุ้นการทำงานของตับอ่อน เป็นต้น แต่งานวิจัยเหล่านี้ ยังเป็นระดับเบื้องต้นด้วยสัตว์ทดลอง เท่านั้นนะครับ
เมื่อเราได้รู้ถึงประโยชน์ หรือสรรพคุณด้านสมุนไพรของมะยมแล้วก็ตาม แต่ในความจริงเราก็คงไม่สามารถกินหรือใช้พืชสมุนไพรเหล่านี้ให้เป็นยารักษาโรค หรือ ใช้รักษาอาการป่วยโดยตรง เพราะเราไม่ได้มีความรู้ที่แท้จริงในการปรุงยา แต่อย่างน้อยเราก็จะได้รู้เข้าใจว่า พืชผักผลไม้ ที่เป็นสมุนไพร เหล่านี้ ถ้าเราเลือกมากินเป็นอาหาร จะให้ประโยชน์หรือมีสรรพคุณที่ดีต่อร่างกายอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้เลือกกินได้อย่างถูกต้องเหมาะสมนะครับ
มะยมนั้นนิยมเอาใบอ่อนมากินคู่กับน้ำพริก ลาบ ขนมจีน ส้มตำ นอกจากนี้ผลมะยมยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารจำพวกของว่างได้อีกหลากหลาย ชนิด เช่น มะยมเชื่อม มะยมแช่อิ่ม มะยมดอง มะยมหยี มะยมกวน มะยมสามรส แยมมะยม น้ำมะยม หรือ ไวน์มะยม ซึ่งมีจำหน่ายมากมายผ่านช่องทางออนไลน์ หากเพื่อนๆ เกษตรกรสร้างรายได้ก็สามารถนำมะยมมาแปรรูปได้เลยนะครับ