ตะขบ หรือผลตะขบ เป็นผลไม้พื้นบ้านที่พบมากตามชนบท ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นผืนดิน เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ต้นตะขบจะพบได้ทั่วไป เช่น ตามบ้านเรือน เรือกสวนไร่นาหรือที่รกร้างในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพราะตะขบงอกขึ้นเองได้ง่าย ทนทานต่อดินฟ้าอากาศ และมีเหล่านกนานาชนิด ซึ่งนกชอบกินผลตะขบมาก คอยช่วยแพร่ขยายพันธุ์ไปในถิ่นต่างๆ ผ่านทางมูลของนกที่มีเมล็ดตะขบอยู่
ตะขบในบ้านเรามีอยู่ 2 ชนิด คือ ตะขบป่าซึ่งหายาก ลำต้นมีหนาม จึงไม่ค่อยมีใครปลูกเก็บเอาไว้ และ ตะขบฝรั่งไม่มีหนาม จึงพบเห็นได้มากที่สุด ถือเป็นผลไม้พื้นบ้านที่มีรสหอมหวาน อมฝาดเล็กน้อย มีผลดกให้กินได้เกือบทั้งปี ผลเป็นลูกกลม ขนาด 1-1.5 เซนติเมตร ผลสุกจะสีแดงสด มีลำต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 5-10 เมตร ลักษณะสำคัญคือทรงพุ่มของต้นจะเป็นรูปทรงคล้ายร่มกันฝน เพราะมีกิ่งก้านใบแน่น แผ่สาขา ขนานกับผืนดิน จึงสร้างความร่มรื่นและดูสวยงาม
ถ้าย้อนไปซัก 20 ปีก่อน ในชนบทจะหาผลตะขบกินได้ง่าย มีให้กินกันแทบทุกบ้าน ส่วนใหญ่งอกขึ้นมาเองและทนทานโดยไม่ต้องดูแล แต่เวลาต่อมามักจะถูกโค่นทิ้ง ทำให้ลดจำนวนไปมาก เพราะมีข้อเสีย คือ ผลสุกที่หวานนั้นหลุดร่วงง่าย ซึ่งเมื่อผลร่วงมาแล้วจะแตกเละคล้ายกับไข่ลวก ทำให้ดูแล้ว สกปรก เลอะเทอะ ยิ่งเวลาที่นกมาจิกกินกัน นอกจากนี้ผลตะขบยังมีอายุสั้น ผลช้ำง่าย จึงยากที่จะกระจายออกไปวางขายตามตลาดทั่วไปได้โดยไม่บอบช้ำเสียหาย และเพราะความง่าย คือหาได้ง่ายและบอบช้ำง่ายนี้เอง ที่ทำให้ตะขบเป็นผลไม้ด้อยราคา ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและถูกลืมเลือนไป
แต่ปัจจุบัน หลังจากที่สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้เผยแพร่ข้อมูลถึงคุณค่าสารอาหารในผลไม้พบว่าผลตะขบมีใยอาหารสูง ช่วยดูดซับสารพิษ กระตุ้นการขับถ่าย ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งในลำไส้ มีวิตามิน ซี และเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยควบคุมระบบการทำงานในร่างกายให้เป็นปกติ และช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง รวมไปถึงมีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์มากไม่แพ้ผลไม้ราคาแพงจากเมืองนอก จึงเริ่มมีผู้คนหันมาสนใจสืบค้นหาข้อมูลของตะขบกันมากขึ้น
ความสนใจในการปลูกจึงเริ่มกลับมา จนเราหาซื้อต้นกล้าพันธุ์ได้จากร้านขายไม้ดอกไม้ประดับทั่วไป ที่มักขยายพันธุ์โดยการเสียบยอด ซึ่งจะทำให้ลำต้นเจริญเติบโตได้รวดเร็วทันใจมากกว่าการเพาะเมล็ด นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเพื่อนๆ เกษตรกร ที่คิดทำสินค้าแปรรูปจากผลตะขบ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตะขบ ไวน์ตะขบและ แยมตะขบ เพื่อแก้ปัญหาความช้ำง่ายของผลสุกและยังสามารถทำเงินได้อีกด้วย ซึ่งถ้ารวบรวมผลผลิตได้มากเพียง ก็ถือว่ามีสินค้าที่มีอนาคตทีเดียว