สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

สะตอ ผลิตผลภาคใต้ ติดใจทั่วไทย

สะตอ คือ ของฝากที่ขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของทางภาคใต้ ซึ่งเรารู้จักกันดี แม้ว่าบางคนจะไม่เคยกินหรือไม่ชอบกินเลยก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ มีคนที่ชอบกินอาหารที่มีสะตอเป็นส่วนผสม เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่ภาคใต้อย่างเดียว แต่ความนิยมได้แผ่ขยายกว้างออกไปทั่วประเทศ ทำให้ปัจจุบัน มีเพื่อนๆ เกษตรกร ทั้งทางภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก รวมถึงภาคกลาง มีความสนใจที่จะทดลองปลูกสะตอ เพราะมีตัวอย่างจาก เพื่อนๆ เกษตรกรบางคนที่ปลูกสำเร็จในหลายแห่ง ซึ่งไม่ใช่แหล่งดั้งเดิม เช่น ศรีษะเกศ บุรีรัมย์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าศึกษา หากคิดทดลองปลูกดู ซัก 3-4 ต้นไว้ที่บ้าน ถ้าเพื่อนๆ เกษตรกรสนใจ เราลองมาดูกันว่า ธรรมชาติของสะตอนั้นมีลักษณะความเป็นมาอย่างไร

สะตอ เป็นพันธุ์ไม้ป่าที่ขึ้นในป่าดงดิบทางภาคใต้ของไทย มาเลเซีย รวมไปถึง อินโดนีเซีย ชอบสภาพอากาศร้อนชื้น มีฝนตกชุก แต่ไม่ชอบน้ำขัง เนื้อดินต้องระบายน้ำได้ดี  หน้าดินควรมีความลึกมากกว่า 2 เมตร ไม่มีหินดานอยู่ใต้ดิน เพราะถ้ารากกระทบหินดาน สะตอจะปลดกิ่งและตาย ปริมาณฝนและความชื้นในอากาศ มีส่วนสำคัญมากกับการเจริญเติบโตของสะตอ จึงทำให้ทางภาคใต้หรือภาคตะวันออก ซึ่งมีฝนตกชุกและอากาศชื้น เหมาะสมที่จะปลูกสะตอมากกว่าที่อื่น และจากที่ผ่านมาพบว่าพื้นที่ไหนปลูก เงาะ ทุเรียน มังคุด ได้ ก็จะปลูกสะตอได้ดีเช่นกัน

สะตอเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงเฉลี่ยได้ถึง 30 เมตร ต้นสูงขึ้นไปแล้วแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแผ่กว้าง ลำต้นเรียบสีน้ำตาลอ่อน กิ่งก้านมีขนละเอียด ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ดอกออกเป็นช่อคล้ายดอกกระถิน โดยจะห้อยระย้าอยู่ทั่วทรงพุ่ม  กลีบดอกสีขาวนวล ออกดอกช่วงเดือนเมษายน หลังจากนั้น 70 วัน คือประมาณ กรกฎาคม-สิงหาคม จะสามารถเก็บฝักได้

โดยทั่วไป สะตอมี 2 สายพันธุ์คือ สะตอดานและสะตอข้าว สะตอดานมีเมล็ดใหญ่ ฝักแบน มีกลิ่นฉุน และรสจัด เป็นพันธุ์หนักคือให้ผลช้าและแก่ช้ากว่า ส่วนสะตอข้าว มีลักษณะฝักบิด มีกลิ่น ฉุนน้อย รสอ่อนกว่า เป็นพันธุ์เบาให้ผลเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่า พวกเราจึงนิยมปลูกสะตอข้าวมากกว่าสะตอดาน เพราะมีรสชาติถูกปากคนทั่วไปมากกว่าและให้ผลผลิตเร็วกว่า นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาการขยายพันธุ์แบบติดตาแทนการเพาะเมล็ด ทำให้สะตอข้าวเจริญเติบโตรวดเร็วและได้ลำต้นที่เตี้ยกว่าเดิมไม่เกิน 10-15 เมตร เก็บฝักง่ายขึ้น

สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่สนใจอยากทดลองปลูกสะตอ มีความเสี่ยงที่ต้องระวังคือ ต้นสะตอนั้นสามารถนำไปปลูกได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ขอแค่ให้รดน้ำสม่ำเสมอ ต้นสะตอเติบโตได้อย่างแน่นอน แต่ผลผลิตหรือฝักสะตอ จะออกฝักมาให้เก็บเกี่ยวกินหรือเปล่า อันนี้ไม่มีใครรับประกันนะครับ เพราะจุดสำคัญคือ ความลึกของหน้าดินและสภาพความชื้นในอากาศซึ่งควบคุมได้ยาก อาจต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น แต่งกิ่งสะตอให้ต้นเตี้ย ปลูกแซมร่วมกับไม้ผลชนิดอื่นแบบสวนป่า เพื่อให้มีความหนาแน่น ได้อาศัยร่มเงาและสร้างสภาพความชื้นให้แก่สะตอครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook