งา เป็นพืชที่สามารถพบได้ทั่วโลก สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่แถบร้อนชื้น โดยในอดีตจะพบได้เพียงแค่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือในเอเชียเท่านั้น ประเทศไทยเรายังมีการส่งออกงาเป็นเครื่องเทศต่าง ๆ มาช้านาน โดยงาเป็นพืชล้มลุกที่มีมานานกว่า 5,000 ปีแล้ว สมัยก่อนในประเทศไทยจะใช้งาเป็นส่วนผสมของขนมไทยบางชนิด เหมือนกับในต่างประเทศซึ่งใช้งาเป็นส่วนผสมของขนมปังเพื่อให้รสชาติที่กลมกล่อมยิ่งขึ้น งานั้นจะให้รสชาติหวานมันคล้ายถั่ว ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ามีการนำงามาแปรรูปประกอบอาหารกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะขนมไทย เช่น กล้วยทอด มันทอด ขนมสอดไส้ทอด ขนุนทอด หรือแม้แต่ของคาว เช่น ไก่ทอด หรือขนมหวาน ขนมโค ก็ต่างมีงาเป็นส่วนผสมในขนม เพื่อเพิ่มรสชาติความอร่อยมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่จะมีรสชาติอร่อยเท่านั้น งายังให้ประโยชน์ในด้านสารอาหารอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน หรือกรดไขมันบางชนิด ซึ่งงานั้นถือว่าเป็นกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว ซึ่งช่วยในการลดไขมันในเลือด ช่วยป้องกันโรคที่อาจเกิดกับระบบเลือดได้ แถมน้ำมันที่ได้จากงายังสามารถนำไปเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางได้อีกด้วยครับ
งาจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประเภทแรกคือ งาดำ พันธุ์งาดำที่นิยมใช้ปลูกกันนั้นก็คือ งาดำบุรีรัมย์และงาดำนครสวรรค์ ลักษณะงาจะเรียวคล้ายเมล็ดข้าว แต่จะรูปทรงแบนกว่าเมล็ดข้าว มีสีดำด้านตลอดทั้งเม็ด ให้รสชาติที่ขมกว่างาทั่วไป ประเภทที่สอง คืองาขาว พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์เมืองเลย และพันธุ์เชียงใหม่ แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาพันธุ์งาขาวดีขึ้นกว่าเดิมมาก เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้น เช่น พันธุ์ซีพลัส 1 พันธุ์ซีพลัส 2 เป็นต้น ส่วนอีกประเภทก็คือ งาดำแดง งานชนิดนี้ พวกเราอาจจะไม่ค่อยรู้จักสักเท่าไหร่ครับ คงมีเพียงแต่เพื่อนๆ เกษตรกรบางรายเท่านั้นที่รู้จักและนิยมนำไปปลูก โดยงาดำแดงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่างาเกษตร โดยงาแดงนั้นจะมีพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมอยู่ แต่ในปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกงาดำแดงพันธุ์อุบลราชธานี 1 กันมากขึ้น เพราะพันธุ์พื้นเมืองอาจจะมีน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้เกษตรกรต้องหันมานิยมปลูกพันธุ์ดังกล่าวกันมากยิ่งขึ้นครับ
การปลูกงาจะนิยมใช้วิธีการหว่าน โดยเริ่มจากการเตรียมหน้าดินไว้ให้พร้อมโดยการไถดินและยกร่องดินให้เหมาะกับสภาพดิน จากนั้นก็นำประเมล็ดประมาณ 2.0-2.5 กิโลกรัมต่อไร่หว่านลงไปในไร่อย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าให้ดีก็ให้ปลูกเมล็ดเป็นแถวเพื่อความสะดวกในการดูแลรักษาและป้องกันโรคติดต่อระหว่างต้นรวมถึงวัชพืชได้ดีกว่าด้วยครับ ไม่เกิน 3 เดือนก็เก็บเกี่ยวไปขายหรือแปรรูปได้แล้วครับ