สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปลาคราฟ: ราชาแห่งปลาสวยงาม มังกรแห่งโชคลาภ

ปลาคราฟ หรือเขียนให้ถูกต้อง คือ ปลาคาร์พ (Carp) เป็นปลาน้ำจืดที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน และ ญี่ปุ่น ปัจจุบันพบงาสเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ได้รับการเพาะเลี้ยงมากที่สุดในโลก (Welcomme, 1988; Hasan et al., 2007; FIGIS, 2011) และปลาคราฟยังมีอัตราการเพาะเลี้ยงที่เติบโตเพิ่มขึ้นตามข้อมูลของ FAO (FIGIS, 2013) ด้วยความแข็งแรง ปรับตัวเก่ง และ ความหลากหลายทางพันธุกรรม ทำให้ปลาคราฟสามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย

ปลาคาร์พ มีชื่อสามัญที่เป็นทางการขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติว่า Carpe commune; Es – Carpa  จัดเป็นปลากระดูกแข็ง ในวงศ์ปลาตะเพียนและวงศ์ Cyprinidae โดยทั่วไปแล้วชาวประมง นักวิจัย และนักกีฬาตกปลาจะเรียกชื่อวิทยาศาสตร์สั้น ๆ ว่า Cyprinus carpio

เครดิตรูปภาพ: Koi fish, Animals, Fish image. Free for use.. โดย Pexels | Pixabay

นักวิจัยแบ่งปลาคราฟออกเป็น 4 สายพันธุ์ย่อย ดังนี้

  1. ปลาคาร์พยุโรป (Cyprinus carpio carpio) พบในลุ่มแม่น้ำดานูบ เทือกเขาอูราล คอเคซัส และเอเชียกลาง
  2. ปลาคาร์พอาราล (Cyprinus carpio aralensis) พบในเอเชียกลาง
  3. ปลาคาร์พอามูร์ (Cyprinus carpio haematopterus) พบในลุ่มแม่น้ำอามูร์ไปจนถึงทางตอนใต้ของจีน
  4. ปลาคาร์พเวียดนามเหนือ (Cyprinus carpio viridiviolaceus)

ปลาคราฟหรือปลาคาร์พเป็นปลาน้ำจืดที่มีความหลากหลายมากในเรื่องของรูปร่าง  สายพันธุ์พื้นเมืองอาจมีลักษณะรูปร่างแตกต่างจากสายพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ บ้างก็ลำตัวยาวคล้ายตอร์ปิโด บ้างก็มีลำตัวสั้น หนาบึกบึน ช่วงไหล่สูง สีของลำตัวมีตั้งแต่สีเทาเหลื่อมสีเงินไปจนถึงสีบรอนซ์ สีท้องมีสีเหลืองหรือแดงแตกต่างกันไป

ปลาคราฟจะเจริญเติบโตได้ดีในแหล่งน้ำที่มีอุณหภูมิ 3–35 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญและแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติอยู่ระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส ชอบอาศัยในบริเวณใต้ท้องน้ำระดับกลางและระดับล่าง ในแหล่งน้ำที่มีความลึกไม่มากและใต้ท้องน้ำมีโคลน

สำหรับการสืบพันธุ์นั้นจะมีการวางไข่หลายครั้ง ในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิไปจนถึงต้นฤดูร้อน ในสภาพภูมิอากาศกึ่งเขตร้อนและเขตร้อน อาจมีการวางไข่ถึงปีละ 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ปริมาณฝนและสภาวะน้ำ โดยปลาคราฟจะผสมพันธุ์ในช่วงรุ่งเช้าบริเวณน้ำตื้นที่มีพืชน้ำ วางไข่บริเวณพื้นผิวของพรรณไม้น้ำเหล่านั้น ตัวเมียที่สมบูรณ์เต็มที่สามารถมีไข่ได้นับแสนฟองและผสมพันธุ์ได้ง่าย แต่อัตราการรอดของไข่และตัวอ่อนค่อนข้างต่ำจนเติบโตเป็นตัวที่โตเต็มวัยได้น้อยมาก

ปลาคราฟได้รับความนิยมในการเลี้ยง เพื่อความสวยงาม ทั้งใน บ่อ และ ตู้ปลา ด้วยสีสันที่สดใส ลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ และความสง่างาม ในหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะ เอเชีย ปลาคราฟเปรียบเสมือน สัญลักษณ์แห่งโชคลาภ ความอุดมสมบูรณ์ และความสำเร็จ  การเลี้ยงปลาคราฟจึงเชื่อกันว่าจะนำ สิ่งดีๆ มาสู่บ้านและผู้อยู่อาศัย

ปลาคราฟ เปรียบเสมือนมังกรแห่งโชคลาภ ผู้สืบทอดตำนานอันยาวนาน สะท้อนวัฒนธรรมและความเชื่อของผู้คน  การเลี้ยงปลาคราฟจึงไม่ใช่แค่การเลี้ยงเพื่อความสวยงาม แต่คือการสัมผัสมรดกทางวัฒนธรรมและความเชื่ออันเก่าแก่ที่สืบทอดมายาวนานอีกด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook