สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปลาดุกทะเล หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ปลาปิ่นแก้ว

โลกใต้น้ำมีสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจมากมาย และ ปลาดุกทะเล (Plotosus canius) ก็เป็นหนึ่งในสัตว์ใต้ผืนน้ำที่มีเอกลักษณ์และความน่าสนใจน่าค้นหาอย่างมากสำหรับผู้ที่หลงใหลสัตว์ใต้ทะเล ปลาดุกทะเล หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ปลาปิ่นแก้ว เป็นปลาทะเลที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่ทางตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียไปจนถึงฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก กินพื้นที่จากชายฝั่งทะเลของกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซีย นิวกินี และออสเตรเลียตอนเหนือ ปลาดุกทะเลมักอาศัยในน่านน้ำเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน เติบโตในพื้นที่ชายฝั่งที่มีระดับน้ำตื้น บริเวณปากแม่น้ำ และป่าชายเลน

ปลาดุกทะเล จะเป็นปลาที่มีลำตัวยาว เรียว เป็นปลาหนัง ลำตัวมีสีดำหรือเทาเข้ม ขนาดลำตัวยาวสุดราว 1.5 ม. และมีขนาดน้ำนักประมาณ 10 กก. ลักษณะลำตัวด้านข้างและส่วนหัวแบน ขนาดของส่วนหัวใหญ่กว่าลำตัวและค่อยๆ เล็กเรียวลงในส่วนท้าย ปลาชนิดนี้มีหนวดจำนวน 4 คู่ โดยมีหนวดที่คาง 2 คู่ และบริเวณรูจมูกและริมฝีปาก จุดละ 1 คู่ มีเมือกอาบทั่วลำตัว ครีบบริเวณอกและหลังมีก้านแข็ง ลักษณะของครีบมีรอยหยักคล้ายฟันเลื่อย ครีบมีความแข็งแรงและมีขนาดใหญ่ ที่ครีบอกและครีบหลังมีพิษรุนแรง หากถูกครีบบริเวณดังกล่าวทิ่มแทงจะเกิดบาดแผลและมีความเจ็บปวดอย่างรุนแรงและอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ในบางกรณี

ปลาดุกทะเล มักพบได้ทั่วไปตามริมทะเล ที่มีพื้นดินเป็นโคลนตม โดยใช้หนวดเป็นอวัยวะในการนำทาง มักจะมุดตัวอยู่ฝังไว้ใต้โคลนรวมกันเป็นฝูง หากินตามแนวปะการังหรือแหล่งเลี้ยงหอยแมลงภู่ที่มีน้ำใส เพราะหอยแมลงภู่คือแหล่งอาหารสำคัญของปลาชนิดนี้ แม้ว่าปลาดุกทะเลจะสามารถจับได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงหน้าหนาวที่น้ำทะเลมีความใสจัด จะสามารถจับปลาได้มากที่สุดและชาวประมงเล่าว่าเป็นช่วงที่เนื้อปลาดุกทะเลจะน่ารับประทานมากกว่าช่วงฤดูกาลอื่น

การจับปลาดุกทะเลมาทำเป็นอาหารนั้น ชาวประมงต้องมีความรู้และความเชี่ยวชาญในการจับ เนื่องจากเป็นปลาที่มีพิษ โดยนิยมจับปลากัน 2 วิธี คือ การตกปลาโดยใช้เบ็ด และการดำน้ำลงไปจับปลา วิธีแรกนั้นจะต้องมีการตระเตรียมหนอนริบบิ้นซึ่งเป็นเหยื่ออันโอชะเพื่อล่อให้ปลาดุกทะเลมาติดเบ็ด โดยทำการตกปลาในบริเวณแนวปะการังแหล่งเลี้ยงหอยแมลงภู่ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุมมาก เพราะปลาชอบอาศัยตามแอ่งหน้าดิน ในระดับที่มีความบึกของน้ำทะเลราว 1.5-2.0 เมตร ส่วนวิธีที่ 2 นั้น ชาวประมงที่จะดำน้ำลงไปจับปลาจะต้องสวมใส่เสื้อผ้าและอุปกรณ์มิดชิด รวมทั้งต้องมีความชำนาญเป็นอย่างมาก เพราะมีความเสี่ยงต่อการถูกครีบพิษทิ่มตำได้ รวมถึงอาจจะต้องเสี่ยงจากเพรียง เม่นและตอไม้ต่างๆ ด้วย ซึ่งอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้อีกชิ้นหนึ่งคือ เบ็ดเกี่ยวปลา โดยอาชีพ ดำน้ำเกี่ยวปลานี้ เป็นหนึ่งในอาชีพที่ชาวประมงประกอบเป็นอาชีพได้

สำหรับแมนูปลาดุกทะเลที่นิยมกันมาก คือปลาดุกทะเลผัดฉ่า โดยหลังจากจับปลาได้ ก็ให้นำมาแล่เป็นชิ้น ล้างด้วยน้ำเกลือแล้วผึ่งลมตากให้แห้งก่อนนำมาปรุงอาหารกันต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook