สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

สาบเสือ สมุนไพรสรรพคุณดี ทำไมจึงถูกจัดเป็น วัตถุอันตราย ?

สาบเสือ ถือเป็นวัชพืช ชนิดหนึ่งที่ขึ้นง่าย ตายยาก ทนทานต่อทุกสภาพแวดล้อม และ แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ไปทั่วทุกภาคของประเทศ เพราะมีเมล็ดจำนวนมากที่ลอยตามลมไปยังที่ต่างๆได้ ซึ่งได้สร้างปัญหาให้แก่เพื่อนๆเกษตรกรเหมือนกับวัชพืชทั่วๆไป แต่อีกด้านหนึ่ง สาบเสือคือพืชสมุนไพรตามตำรับยาพื้นบ้านซึ่งมีสรรพคุณที่ขึ้นชื่อมาก คือ การใช้ใบขยี้ละเอียด ปิดทับบาดแผลสดเพื่อช่วยห้ามเลือด ช่วยลดการอักเสบ และเมื่อได้มีการนำเอาต้นสาบเสือ ไปศึกษาทดลอ จึงทำให้ค้นพบว่า ใบสาบเสือ มีสารออกฤทธิ์ที่เป็นพิษต่อแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เช่น หนอนกระทู้ ด้วง เพลี้ยอ่อน รวมไปถึงยังมีสารออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชได้อีกด้วย

จึงมีการนำเอาลำต้น หรือ ใบสาบเสือ มาใช้เป็นส่วนผสม เพื่อทำยากำจัดแมลงศัตรูพืชแบบอินทรีย์ได้หลายสูตร หลายวิธี โดยไม่ต้องใช้สารเคมีต่างๆ ซึ่งเสี่ยงกับสารพิษตกค้างและช่วยประหยัดต้นทุน ตัวอย่างเช่น การเอาต้นและใบไปตากแห้ง แล้วบดเป็นผงผสมน้ำทิ้งไว้ค้างคืน สามารถเอาน้ำไปฉีดพ่นในแปลงผัก ทุก 7 วัน เพื่อป้องกันและไล่หนอนใยผัก หนอนกระทู้  หรือการนำเอาผงสาบเสือ มาผสมเหล้าขาว หมักค้างคืน แล้วนำไปฉีดพ่นเพื่อป้องกันเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ให้แก่พืชได้

แต่ปัจจุบันได้เกิดมีประเด็นปัญหาขึ้น เมื่อมีข่าวการเรียกร้องให้ถอนพืชสมุนไพร จำนวน 13 รายการได้แก่  สาบเสือ สะเดา ขมิ้นชัน ขิง ข่า ตะไคร้หอม พริก ขึ้นฉ่าย  ดาวเรือง กากเมล็ดชา ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และ หนอนตายหยาก ออกจาก “บัญชีวัตถุอันตรายประเภทที่ 2”  ซึ่งเมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป จึงทำให้เกิดกระแสข้อสงสัย และมีคำถามกันมากมายว่า ทำไมสมุนไพรธรรมดาๆ ที่มีสรรพคุณเป็นยาและใช้ปรุงกินเป็นอาหาร จึงถูกกำหนดให้เป็น “วัตถุอันตราย” หรือ มีพิษ ซึ่งคนทั่วไปมักจะไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน เลยมีข้อสงสัยกันมากซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ก็มีเหตุผลอธิบายได้ครับ

โดยปกติแล้ว สารสกัดธรรมชาติ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือการสกัดจริง และ ไม่ผ่านการสกัด โดยการสกัดจริงนั้น จะผ่านกรรมวิธีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ทำให้ได้สารสกัดบริสุทธิ์ที่ออกฤทธิ์ 100%ซึ่งวัตถุอันตรายที่กฎหมายกำหนด คือ สารสกัดที่ออกฤทธิ์เป็นพิษต่อคน สัตว์ และพืช หรือนำไปใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืชเท่านั้น ถือเป็นวัตถุอันตราย ที่ต้องขออนุญาต เช่น การสกัดใบสาบเสือ ให้ได้สารออกฤทธิ์กำจัดแมลงศัตรูพืช 100 %   ถือเป็นวัตถุอันตราย แต่หากไม่ผ่านการสกัด เช่น การตากแห้ง บ่ม สับ บด หรือผสมน้ำหมัก เพื่อนำมาใช้กำจัดแมลง อันนี้ถือว่า“ไม่เป็นวัตถุอันตราย” ตามกฎหมาย เพื่อนๆ เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต เพราะไม่ใช่สารสกัด จึงไม่ออกฤทธิ์รุนแรง เป็นอันตรายกับคนเท่ากับสารสกัดจริงครับ

ดังนั้น พืชสมุนไพรที่ถูกขึ้นบัญชีวัตถุอันตราย ความจริงแล้วไม่ได้อันตราย ถ้าใช้อย่างถูกต้อง ซึ่งกฎหมายได้เข้ามาควบคุมดูแลในส่วนนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยของส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยไม่ได้เหมารวม เอาสารสกัดประเภทอื่นที่ดี เป็นประโยชน์ไปรวมด้วยแต่อย่างใดครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook