สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

บอนไซ สุนทรียศาสตร์แห่งพรรณไม้

บอนไซ คำที่เราคุ้นชินกัน ไม่ได้เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่กลับเป็นวิถีแห่งการปลูกและดูแลต้นไม้ในภาชนะทรงตื้น บ้างก็ใช้ถาดหรือกระถางขอบเตี้ย คำว่า “บอนไซ” นั้นเป็นการออกเสียงเลียนศัพท์จากภาษาญี่ปุ่น ซึ่งแปลว่า “การปลูกต้นไม้ในถาด” ที่นิยมนำต้นไม้ขนาดเล็กมากมาปลูกและดัดรูปทรงให้งดงาม โดยให้ความสำคัญกับรูปทรงของต้นไม้และความประณีตบรรจงเป็นหัวใจหลัก ซึ่งมักจะปลูกต้นไม้เพียงต้นเดียวในถาด

ขณะที่ในประเทศจีนนั้นจะมีวิถีแห่งศิลปะการปลูกต้นไม้ขนาดเล็กที่คล้ายคลึงกัน แต่จะเพิ่มวัสดุและบรรยากาศเลียนแบบธรรมชาติ ได้แก่ ก้อนหิน ธารน้ำ และสิ่งประดับต่างๆ นอกจากนี้ยังพบการจัดสวนถาดเช่นนี้ในประเทศเวียดนามอีกด้วย ส่วนในประเทศไทยเรานั้นมีศิลปะการดัดต้นไม้ที่คล้ายคลึงกัน คือ ไม้ดัด ซึ่งนิยมนำไม้ขนาดปกติที่เป็นไม้พื้นถิ่นมาดัดกิ่งให้มีลักษณะที่สร้างสรรค์ แตกต่างจากบอนไซที่เน้นการย่อขนาดและสัดส่วนจากต้นไม้ขนาดตามธรรมชาติให้กลายเป็นต้นไม้จิ๋วในถาด

การปลูกต้นไม้แบบบอนไซได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก มีการจัดจำหน่ายวัสดุที่ใช้สำหรับการผลิตบอนไซ และหนังสือที่เกี่ยวข้อง จำหน่ายอย่างแพร่หลาย การจัดสวนถาดบอนไซนั้น นิยมนำ ต้นสนพันธุ์คุโรมัสซึ พันธุ์ฮิโนกิ พันธุ์ชิมปากุ และ ต้นอาซาเลีย มาดัดตามการสร้างสรรค์ แม้ว่าจะไม่มีรูปแบบตายตัว แต่มีการแบ่งรูปแบบตามลักษณะการตั้งของลำต้นพรรณไม้ที่นำมาดัดโดยแบ่งตามองศาความเอียง บ้างก็แบ่งตามรูปทรงและขนาด

การเลี้ยงบอนไซแม้จะเป็นสุนทรียภาพเฉพาะบุคคล แต่ก็ยังคงมีหลักการแห่งสุนทรียะแห่งบอนไซ ไม่ว่าจะเป็น การย่อส่วนหรือทำให้ต้นพรรณไม้มีขนาดเล็กลง โดยควรมีสัดส่วนทั้งต้นสมบูรณ์เหมือนต้นไม้ขนาดใหญ่ ดังนั้นสมดุลของลำต้น กิ่ง ใบ และรูปทรง ถือเป็นศิลปะในการเลี้ยงอย่างพิถีพิถัน ขนาดของต้นไม้ต้องเหมาะสมกับภาชนะ เป็นต้น

สิ่งสำคัญอีกประการในการเลี้ยงบอนไซ คือ ภาชนะปลูก ที่ต้องมีรูระบายน้ำบริเวณก้นภาชนะเพื่อระบายน้ำออกจากภาชนะได้อย่างรวดเร็ว และควรมีตะแกรงปูรองไว้ในภาชนะด้านล่างสุดเพื่อป้องกันศัตรูพืชและกันดินไม่ให้ไหลออกจากภาชนะ ส่วนใหญ่นิยมเลือกใช้กระถางตื้นๆ ที่เป็นเซรามิกแต่อาจจะพบการปลูกบนแผ่นหินบางๆ ที่มีรูตรงกลางได้บ้าง และมักสีสันของภาชนะที่เหมาะสมกับสีของพรรณไม้

บอนไซเป็นศิลปะการดูแลต้นไม้ที่ผสมผสานความงามแห่งธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ไว้ด้วยกันอย่างลงตัว สำหรับผู้ที่ไม่เคยลองเลี้ยงบอนไซมาก่อน การเริ่มต้นอาจดูเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่เมื่อเข้าใจถึงความงามและความสำคัญของการดูแลต้นไม้เล็กๆ นี้ อาจจะทำให้เกิดความหลงใหลในความละเอียดและความสุนทรีย์แห่งบอนไซเช่นเดียวกับเซียนบอนไซทั่วโลกก็เป็นได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook