สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพัฒนาพันธุ์มันฝรั่งที่ให้ผลผลิตสูงและทนร้อนในประเทศไทย

มันฝรั่ง เป็นพืชหัวที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นพืชอาหารอันดับ 4 ของโลก มีถิ่นกำเนิดบนเทือกเขาแอนดีสในประเทศเปรู พื้นที่หลักในการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยคือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และตาก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการปลูกบางส่วนในจังหวัดเชียงราย สกลนคร และเลย ประเทศไทยสามารถผลิตมันฝรั่งได้ประมาณ 120,000 ตันต่อปี โดยร้อยละ 90 ใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานแปรรูป และร้อยละ 10 ใช้สำหรับการบริโภคหัวสด

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงต้องนำเข้าหัวพันธุ์ ผลผลิต และผลิตภัณฑ์แปรรูปมันฝรั่งจำนวนมากในแต่ละปี โดยในช่วงปี 2560-2564 มีการนำเข้ามันฝรั่งและผลิตภัณฑ์เฉลี่ยสูงถึง 4,200 ล้านบาท (กรมศุลกากร, 2566) เนื่องจากหัวพันธุ์ที่ผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และมีข้อจำกัดในการผลิตรวมถึงปัญหาศัตรูพืช

เครดิตภาพ: Potatoes โดย Ed G2S | Wikimedia Commons | Public domain

มันฝรั่งเป็นพืชที่ต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตและการเกิดหัว โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตทางลำต้นประมาณ 25 องศาเซลเซียส และสำหรับการเกิดหัวอยู่ระหว่าง 15-20 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิสูงเกินไป จะส่งผลให้การเกิดหัวลดลงหรือไม่เกิดเลย ซึ่งปัจจุบันทุกพื้นที่ประสบภาวะโลกร้อน ทำให้ผลผลิตมันฝรั่งลดลงไปด้วย

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยจึงมีตระหนักถึงความจำเป็นในการคัดเลือกพันธุ์มันฝรั่งสายไดแฮพลอยด์ที่ทนทานต่ออุณหภูมิสูง เนื่องจากพันธุ์มันฝรั่งที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตต่ำในพื้นที่อุณหภูมิสูง ดังนั้น การพัฒนาพันธุ์มันฝรั่งทนร้อนจะช่วยเพิ่มพื้นที่ปลูก ลดการนำเข้า และส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง ส่งผลให้ประเทศไทยมีผลผลิตมันฝรั่งเพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมแปรรูปในประเทศ

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือ สวก.จึงได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การพัฒนาพันธุ์มันฝรั่งที่ให้ผลผลิตสูงและทนร้อนในประเทศไทย” โดยทีมวิจัยได้คัดเลือกพันธุ์มันฝรั่งทนร้อนจากแหล่งพันธุกรรมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการคัดเลือกในห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่อุณหภูมิสูงและแปลงทดลองที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน รวมถึงการศึกษาการแสดงออกและการตอบสนองทางสรีรวิทยาของยีนทนร้อนในมันฝรั่ง

ผลสำเร็จของโครงการวิจัยนี้จะช่วยขยายพื้นที่เพาะปลูกไปยังบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งจะเพิ่มผลผลิตรวมของประเทศ เกษตรกรในพื้นที่ปลูกอื่นๆ ที่ไม่เคยปลูกพืชชนิดนี้จะมีทางเลือกใหม่ในการเพาะปลูก เป็นการกระจายรายได้สู่ภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น ช่วยลดการนำเข้าหัวพันธุ์และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากต่างประเทศ ส่งผลให้ประหยัดเงินตราต่างประเทศได้มหาศาล นอกจากนี้ ยังลดการพึ่งพาต่างประเทศในด้านเทคโนโลยีการผลิตมันฝรั่ง ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการเกษตรได้ด้วยตนเองมากขึ้น  ขณะเดียวกันยังเพิ่มความมั่นคงทางอาหารและวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปในประเทศ โดยการมีแหล่งผลิตมันฝรั่งที่มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอภายในประเทศจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดโลกและภัยธรรมชาติในต่างประเทศ อีกทั้งยังสามารถควบคุมคุณภาพผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมภายในประเทศได้ดียิ่งขึ้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook