สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เห็ดเข็มทอง เห็ดยอดนิยมของคนเอเชีย

เห็ดที่นิยมรับประทานกันในวงกว้างที่มีชื่อว่า “เห็ดเข็มทอง” นั้น เป็นเห็ดที่อยู่ในวงศ์ Physalacriaceae มีการปลูกเห็ดชนิดนี้เป็นอาหารอย่างแพร่หลายในประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นและจีน โดยจะถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารหลากหลายเมนู ประเทศญี่ปุ่นจะเรียกชื่อเห็ดชนิดนี้ว่า enokitake ตามชื่อของต้นเอโนกิที่เห็ดเข็มทองอาศัยบริเวณโคนของต้นพืชดังกล่าว พบได้ตามธรรมชาติใน 3 ประเทศหลักของเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งในประเทศจีน มีการเพาะเลี้ยงเห็ดเข็มทองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.1343 สืบทอดกันมายาวนานจนถึงปัจจุบันและมีการผลิตเชิงพาณิชย์ในรูปของเห็ดสดและเห็ดบรรจุกระป๋อง ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมในการบริโภคเห็ดชนิดนี้

เครดิตภาพ: Flammulina velutipes (Enokitake, winter mushroom) โดย frankenstoen | Wikimedia Commons | CC BY-SA

เห็ดเข็มทอง เป็นเห็ดที่มีลักษณะโดดเด่นและน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเห็ดที่เติบโตในธรรมชาติและเห็ดที่ได้จากการเพาะเลี้ยง โดยเห็ดเข็มทองที่เติบโตตามธรรมชาติ มักเติบโตเป็นกลุ่ม แต่ละดอกมีความสูงถึง 50 มิลลิเมตร หรือราว 2 นิ้ว ในระยะแรกนั้นหมวกเห็ดจะมีลักษณะโค้งนูน เมื่อโตเต็มที่หมวกเห็ดจะแผ่ออกและแบนลง ผิวของหมวกเห็ดเรียบ เมื่อมีความชื้นจะมีลักษณะเหนียวและมีสีเหลืองนวลถึงสีน้ำตาลอมเหลือง ครีบด้านล่างหมวกเห็ดมีสีครีมถึงขาวอมเหลือง ก้านดอกเรียบ โดยส่วนบนมีสีเหลืองอ่อน และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองถึงน้ำตาลเข้มที่โคนก้าน สปอร์มีสีขาว เมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบว่าสปอร์มีผิวเรียบ รูปร่างรีถึงทรงกระบอก

ส่วนเห็ดเข็มทองที่ได้จากการเพาะเลี้ยงจะมีลักษณะแตกต่างจากเห็ดที่พบในธรรมชาติอย่างเห็นได้ชัด เพราะเห็ดจะไม่ได้รับแสง ทำให้ดอกเห็ดมีสีขาวหรือซีด ก้านดอกยาว และหมวกเห็ดมีขนาดเล็ก ความแตกต่างนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสภาพแวดล้อมต่อการเจริญเติบโตของเห็ด

เห็ดเข็มทองเป็นที่นิยมในอาหารหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นซุป สลัด หรืออาหารผัด จึงเป็นพืชที่มีคุณค่าและศักยภาพสูงในด้านการเกษตรและเศรษฐกิจ การเพาะเห็ดเข็มทองจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและส่งเสริมสุขภาพของชุมชนไปพร้อมๆ กัน

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook