ปัญหาขยะพลาสติกและการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอย่างยาวนาน การผลิตพลาสติกต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติในปริมาณมาก และเมื่อพลาสติกหมดอายุการใช้งานแล้วจะถูกปล่อยลงสู่ที่สาธารณะ ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติหรือต้องใช้เวลานานกว่าจะย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ โดยขยะพลาสติกที่หลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมจะค่อย ๆ แตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือที่เรียกว่าไมโครพลาสติก (microplastic) และนาโนพลาสติก (nano plastic) ซึ่งสามารถสะสมในตะกอนดิน และอาจปนเปื้อนเข้าสู่สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศและสุขภาพของสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ การสลายตัวของพลาสติกในสภาพแวดล้อมยังมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
เครดิตภาพ: Shaheed Island, Andamans, Mangrove beach, True wilderness โดย Vyacheslav Argenberg | Wikimedia Commons | CC BY-SA 2.0
ผลงานวิจัยของทีมวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยการเกษตร (สวก.) ในช่วงปี 2563 -2564 นับเป็นก้าวสำคัญในการเข้าใจสถานการณ์การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของไทย โดยทีมวิจัยได้ตรวจพบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในป่าชายเลนบริเวณดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม และชายหาดในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง โดยพบไมโครพลาสติกประเภทเซลโลเฟน พอลิเอสเตอร์ และพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้า และขวดน้ำพลาสติก ตามลำดับ
นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังได้พบแบคทีเรีย 4 สายพันธุ์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายไมโครพลาสติกประเภทต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการพัฒนาวิธีการบำบัดไมโครพลาสติก โดยทีมวิจัยได้ทดลองใช้แบคทีเรียเหล่านี้ร่วมกับพืชท้องถิ่น ได้แก่ ต้นโกงกางใบใหญ่และต้นจิกทะเล พบว่าสามารถลดปริมาณไมโครพลาสติกชนิดโพลีเอทิลีนได้ถึงร้อยละ 79.35 ภายในระยะเวลา 120 วัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการใช้วิธีการทางชีวภาพในการจัดการปัญหาไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม
โครงการวิจัย “การบำบัดไมโครพลาสติกบริเวณป่าชายเลนโดยใช้พืชร่วมกับแบคทีเรีย (ปีที่ 3)” ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลอย่างละเอียดในพื้นที่สำคัญ ได้แก่ ดอนหอยหลอด อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และป่าชายเลนบริเวณอ่าวพังงา โดยมีเป้าหมายในการจำแนกสายพันธุ์แบคทีเรียที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายไมโครพลาสติกและศึกษาความสามารถของพืชท้องถิ่นในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนากระบวนการบำบัดไมโครพลาสติก ทำการทดลองใช้แบคทีเรียและพืชในการบำบัดไมโครพลาสติกทั้งในสภาวะไฮโดรโพนิกและในดิน พร้อมทั้งสร้างแบบจำลองการทดสอบเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่จริง มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศในระยะยาว
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายผลการวิจัยสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งจะช่วยยกระดับการจัดการปัญหาไมโครพลาสติกในระดับประเทศ เป็นแนวทางที่ยั่งยืนในการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน และสามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป