กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการพัฒนาระบบการตรวจวัดและติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการฝนหลวงและการให้บริการข้อมูลอุตุนิยมวิทยา โดยปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีสถานีเรดาร์ จำนวน 11 แห่ง ทั่วประเทศ แบ่งเป็นเรดาร์ชนิด S-band 6 สถานี และ C-band จำนวน 5 สถานี ซึ่งสามารถตรวจจับสภาพอากาศในรัศมีประมาณ 240 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม การใช้ข้อมูลแบบรายสถานีเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอต่อการติดตามการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝนในระดับภูมิภาคหรือลุ่มน้ำขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงได้พัฒนากระบวนการสร้างข้อมูลเรดาร์โมเสกในปีงบประมาณ 2564-2565 โดยได้นำข้อมูลจากเรดาร์ทั้งประเทศมาประมวลผลรวมกัน แสดงผลในรูปแบบ Mosaic Reflectivity และ Mosaic QPE ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)
นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีการตรวจวัดสภาพอากาศชั้นบนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยใช้เครื่องวิทยุหยั่งอากาศ (Upper Air Radiosonde) และล่าสุดได้นำเทคโนโลยีเครื่องวัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความยาวคลื่นสั้นภาคพื้นดิน (Microwave Radiometer Profilers: MWRPs) มาใช้เพิ่มเติม ซึ่งสามารถตรวจวัดสภาพอากาศชั้นบนได้ทุก 5 นาที ในระยะความสูงตั้งแต่ 0-10 กิโลเมตรจากพื้นดิน
แม้จะมีการพัฒนาระบบการตรวจวัดและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังคงประสบปัญหาในด้านการบริหารจัดการและการให้บริการข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของแพลตฟอร์ม
ที่มีประสิทธิภาพในการประมวลผล การบริหารจัดการฐานข้อมูล และการสื่อสารกับผู้ใช้งานอย่างรวดเร็วและตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ดังนั้น สวก. จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “ระบบการบริหารจัดการข้อมูลสภาพอากาศชั้นบนและเรดาร์ตรวจอากาศของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านการเกษตรและบรรเทาภัยพิบัติของประเทศไทย” โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาระบบการจัดการฐานข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเรดาร์ตรวจอากาศและข้อมูลสภาพอากาศชั้นบน มุ่งเน้นการให้บริการข้อมูลที่สามารถสื่อสารกับผู้ใช้งานได้อย่างทันท่วงทีและตรงกับความต้องการ
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้พัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลผ่าน API (Application Programming Interface) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและใช้ประโยชน์จากข้อมูลเรดาร์โมเสกและข้อมูลสภาพอากาศของประเทศไทย
ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ผลงานวิจัยสามารถยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในการจัดการข้อมูลสภาพอากาศ ทำให้กรม
ฝนหลวงและการบินเกษตร ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ วางแผน และดำเนินการได้อย่างทันท่วงที ซึ่งส่งผลดีต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การควบคุมสถานการณ์น้ำท่วมและภัยพิบัติ รวมถึงการวางแผนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในอนาคต ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเผชิญกับความท้าทายทางสภาพอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และสร้างความมั่นคงในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศต่อไป