น้ำผึ้งเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่มีคุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณทางการแพทย์อันโดดเด่น ผ่านกระบวนการผลิตตามธรรมชาติ โดยผึ้งที่เก็บน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ก่อนผ่านการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี และถูกสะสมไว้ในรังผึ้ง ด้วยองค์ประกอบที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน แร่ธาตุ วิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงกรดอะมิโนและเอนไซม์ที่จำเป็นต่อร่างกาย ส่งผลให้น้ำผึ้งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในการบริโภคโดยตรงและการใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมต่างๆ ในบริบทของการค้าระหว่างประเทศ ประเทศไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกน้ำผึ้งที่สำคัญ โดยครองอันดับ 2 ของอาเซียนและอันดับ 36 ของโลก จากสถานการณ์การส่งออกที่ลดลงของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อย่างจีนและเม็กซิโก ประกอบกับแนวโน้มการเติบโตของตลาดน้ำผึ้งโลกได้เปิดโอกาสสำคัญให้ไทยในการขยายการส่งออกน้ำผึ้งคุณภาพสูง
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือการรักษามาตรฐานคุณภาพควบคู่ไปกับการควบคุมต้นทุนการผลิตให้แข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาศักยภาพน้ำผึ้งจากผึ้งพื้นเมืองไทยอย่างชันโรง ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืนความสำเร็จของน้ำผึ้งคุณภาพพิเศษในตลาดโลกสดงให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะกรณีของน้ำผึ้งมานูก้าจากนิวซีแลนด์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงถึง 10 เท่าของน้ำผึ้งทั่วไป ด้วยคุณสมบัติพิเศษในการต้านจุลินทรีย์ เช่นเดียวกับน้ำผึ้งจากดอกยูคาลิปตัสที่มีสรรพคุณในการต้านการอักเสบ และน้ำผึ้งเกสรดอกลำไยจากไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดจีน สะท้อนให้เห็นว่าน้ำผึ้งที่ผลิตจากเกสรดอกไม้ชนิดเดียวที่มีคุณประโยชน์เฉพาะเจาะจงนั้นมีศักยภาพทางการตลาดสูง
เครดิตภาพ: Cosmos sulphureus, 2024-07-17 โดย Cbaile19 | Wikimedia Commons | CC0 1.0 Public Domain Dedication
ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางธรรมชาติที่โดดเด่นในการพัฒนาน้ำผึ้งคุณภาพพิเศษ ด้วยความหลากหลายทั้งในแง่ของชนิดผึ้งพื้นเมืองและพรรณไม้ในป่าเขตร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชสมุนไพรที่เป็นแหล่งอาหารของผึ้งถึงกว่าร้อยละ 50 ซึ่งมีสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย ตั้งแต่การบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต ไปจนถึงการรักษาอาการท้องเสียและขับเสมหะ ความหลากหลายทางชีวภาพนี้ได้หล่อหลอมให้น้ำผึ้งไทยมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งในด้านกลิ่น รสชาติ และคุณสมบัติทางชีวภาพที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ตอบสนองความต้องการของตลาดเฉพาะกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลงานวิจัยล่าสุดของทีมวิจัยได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของน้ำผึ้งจากผึ้งพื้นเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำผึ้งดอกดาวกระจายจากผึ้งมิ้มที่มีคุณสมบัติด้านความเข้มสีที่สูงกว่าน้ำผึ้งมานูก้า 5+ ซึ่งเป็นน้ำผึ้งคุณภาพพรีเมียมระดับโลก นอกจากนี้ น้ำผึ้งจากชันโรงที่เลี้ยงแบบปล่อยหาอาหารอิสระยังมีปริมาณสารฟีโนลิกและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่าน้ำผึ้งจากผึ้งมิ้มและผึ้งโพรง สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่มีคุณสมบัติทางยาโดดเด่น
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยต่อยอดในโครงการ “การผลิตน้ำผึ้งอัตลักษณ์เฉพาะจากดอกดาวกระจายเพื่อพัฒนา เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพในเชิงพาณิชย์” โดยการวิจัยครั้งนี้ได้ศึกษาครอบคลุม ตั้งแต่การพัฒนากระบวนการเลี้ยงชันโรงสายพันธุ์ Tetragonula pagdeni และ T. laeviceps ที่เหมาะสมสำหรับการผลิตน้ำผึ้งจากดอกไม้ชนิดเดียว การวิเคราะห์คุณสมบัติทางเคมีกายภาพและฤทธิ์ทางชีวภาพ ไปจนถึงการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้งานเชิงพาณิชย์ โดยเลือกใช้ดอกดาวกระจายซึ่งเป็นพืชที่ปลูกง่ายและเป็นที่รู้จักในฐานะดอกไม้กินได้ที่มีสรรพคุณทางการแพทย์หลากหลาย
ผลงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของน้ำผึ้งจากผึ้งพื้นเมืองไทย และนับเป็นการวางรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำผึ้งของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งไทยในตลาดระดับพรีเมียม องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองชนิดอื่นๆ รวมถึงการผลิตน้ำผึ้งจากพืชสมุนไพรท้องถิ่นที่มีศักยภาพอีกจำนวนมาก นับเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรไทยและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งและชุมชนท้องถิ่น ในขณะเดียวกัน การส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองยังมีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยในระยะยาว