สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

โทงเทงฝรั่ง กับเคพกูสเบอรี่ ต่างกันไหมหนอ

โทงเทงฝรั่ง หรือ เคพกูสเบอรี่ จัดเป็นพืชในตระกูลเดียวกับพริก มะเขือ มะเขือเทศ มันฝรั่ง ยาสูบ พิทูเนีย มีถิ่นกําเนิดในอเมริกาใต้ แถบประเทศเปรู ชิลี บราซิล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Physalis Peruviana L. มีลักษณะเกลี้ยงกลมผิวผลเรียบเนียนและมันวาว เมื่อผลสุกมีสีผิวเปลือกเหลืองอมส้ม กลีบเลี้ยงที่หุ้มห่อผล จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนคล้ายฟางข้าว ในผลมีเมล็ดเล็กๆ สีเหลืองจำนวนมาก รสชาติของผลมีรสเปรี้ยวอมหวาน อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ทั้งวิตามินซี เบต้าแคโรทีน วิตามินบี และยังมีสารที่ยับยั้งแบคทีเรียและไวรัสอีกด้วย

ประเทศไทยเราได้เริ่มมีการนำโทงเทงฝรั่งเข้ามาปลูกในทางตอนเหนือของประเทศ เพื่อทดแทนการทำไร่เลื่อนลอยและการปลูกฝิ่นในที่สูง ด้วยรูปร่างของผลที่คล้ายคลึงกับผลโทงเทงของไทย จึงถูกตั้งชื่อไทยว่า “โทงเทงฝรั่ง” และมีการปรับชื่อใหม่ให้เหมาะกับการทำการตลาดเป็น “ระฆังทอง” แต่ปัจจุบันเราๆ ต่างรู้จักกันในชื่อ “เคพกูสเบอรี่” แบบดั้งเดิมของต่างประเทศนั่นเอง

ต้นโทงเทงฝรั่งเป็นพืชเมืองหนาว ลำต้นสมบูรณ์อุ้มน้ำได้ดี ใบมีลักษณะคล้ายใบพลูอ่อนนุ่มและมีขนอ่อนทั้งใบ ผลิดอกบริเวณซอกใบตามข้อ แตกยอดใหม่เสมอ มีดอกเดี่ยว คว่ำลง ให้ผลผลิตถึง 3 เดือนต่อรุ่น ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงทดลองปลูก เพราะนับได้ว่าเป็นผลไม้เศรษฐกิจอย่างหนึ่ง และด้วยสรรพคุณที่อุดมด้วยวิตามินทำให้เป็นที่ต้องการในตลาด โดยเฉพาะการนำผลสดไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำผลไม้ต่างๆ ทั้งน้ำปั่น และน้ำผลไม้สำเร็จรูป

โทงเทงฝรั่งสามารถเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท โดยเฉพาะดินที่ปนทรายเพราะระบายน้ำได้ดี ทนแดด ทนแล้ง แต่ชอบอากาศหนาว ปัจจุบันยังต้องเพาะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ในถุงเพาะชำ เลี้ยงไว้ในที่ร่ม จนกว่ารากงอก ลำต้นแข็งแรงจึงย้ายไปปลูกในแปลงได้ เมื่อลำต้นตั้งตรงสามารถปลูกในที่ดินที่แดดส่องได้ทั่วถึง รดน้ำสม่ำเสมอทุกเช้าเย็น จนกว่าต้นจะแข็งแรงเต็มที่จึงค่อยเว้นระยะการให้น้ำ ไม่เกิน 4 เดือนเราก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วครับ โดยสังเกตที่สีของผลโทงเทงฝรั่งที่ส้มเหลืองเต็มที่ ก็สามารถเด็ดออกจากต้นเพื่อนำมาแปรรูปหรือจำหน่ายได้

การแปรรูปส่วนใหญ่จะนำไปผลิตเป็นแยม หรือนำไปประกอบขนมอบประเภทเบเกอรี่ เช่น พายเคพกูสเบอรี่ หรือทำเป็นซอสราดขนมอบต่างๆ และนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตไอศครีมประเภทเจลาโต้ หรือพุดดิ้ง รวมไปถึงการนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำสลัดต่างๆ ที่ลูกค้าเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรักสุขภาพ ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่นับวันมีแต่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook