กาลักน้ำ คือ หลักวิทยาศาสตร์ขั้นต้น เป็นเรื่องของการดึงน้ำจากจุดที่สูงกว่าผ่านท่อหรือสายยาง ลงในจุดที่ต่ำกว่าอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องใช้พลังงานหรือเครื่องมือ เช่น การถ่ายน้ำออกจากตู้เลี้ยงปลาด้วยสายยางโดยไม่ต้องออกแรงยกตู้ปลา กาลักน้ำจึงช่วยประหยัดพลังงาน
จากหลักการดังกล่าว จึงทำให้เกิดเป็นโครงการ “กาลักน้ำ” ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งพบได้หลายแห่งตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำทางการเกษตร โดยการดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำผ่านท่อส่งน้ำให้แก่เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่ต่ำกว่าอย่างทั่วถึง โดยไม่เสียต้นทุนค่าพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน หรือเครื่องจักร ใด ๆ ในการสูบน้ำ หรือส่งน้ำให้เกิดความสิ้นเปลือง
หลายคนอาจสงสัยว่า ธรรมชาติของน้ำก็ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำอยู่แล้วเป็นปกติ หลักของกาลักน้ำก็เหมือนกันคือ น้ำจากที่สูง ลงสู่ที่ต่ำ ดังนั้น กาลักน้ำ จะมีความพิเศษแตกต่าง ตรงไหน?
เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ ตามธรรมชาติแล้วน้ำจากแหล่งเก็บน้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำได้ก็ต่อเมื่อน้ำมีปริมาณสูงกว่าประตูระบายน้ำ ก่อให้เกิดน้ำล้นสันเขื่อนหรือน้ำล้นขอบอ่างเก็บน้ำ จึงไหลทะลักลงไปสู่พื้นที่ต่ำกว่าได้ แต่ถ้าน้ำมีปริมาณน้อยหรือต่ำกว่าระดับขอบอ่างหรือประตูระบาย น้ำก็จะไม่มีวันไหลลงมาสู่ที่ต่ำได้ แต่ กาลักน้ำนั้น แม้แต่ตอนที่น้ำน้อยก็สามารถดึงน้ำผ่านท่อขึ้นมาได้ จุดนี้คือความแตกต่างการต่อท่อลงไป เพื่อดึงน้ำที่อยู่ในระดับต่ำ ให้ไหลขึ้นมาตามท่อและให้ข้ามสันเขื่อนหรือข้ามขอบอ่างที่อยู่สูงกว่าได้ โดยไม่ใช้เครื่องสูบน้ำหรือพลังงานอื่น แล้วส่งน้ำลงไปตามท่อสู่พื้นที่รับน้ำที่ต่ำกว่า
ซึ่งเพื่อน ๆ เกษตรกรเองก็สามารถนำกาลักน้ำมาใช้กับพื้นที่เพาะปลูกของเราได้ เช่น การดึงน้ำจากคลองชลประทานหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ผ่านทางท่อพลาสติก เข้ามาสู่แปลงเพาะปลูกหรือแหล่งเก็บน้ำของตัวเองได้ โดยมีเงื่อนไขว่าพื้นที่รับน้ำต้องอยู่ในระดับต่ำกว่าแหล่งที่เป็นต้นน้ำเท่านั้น ส่วนตามเส้นทางที่วางท่อมา ไม่ว่าจะยาวกี่ร้อยเมตร หรือจะเป็นเนินลาดชันหรือเป็นเนินโค้ง ที่ไม่ราบเรียบ ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเมื่อท่อ กาลักน้ำ ทำงานได้สมบูรณ์ ตามหลักที่ถูกต้อง แรงดึงดูดของน้ำจะดึงน้ำผ่านท่อขึ้นที่สูง ข้ามสิ่งกีดขวางได้สูงถึงระดับ 8 เมตรทีเดียวครับ จะเป็นการดีแค่ไหน ถ้าแปลงเกษตรของเรามีน้ำใช้ไม่ขาดสาย โดยนำวิธีกาลักน้ำมาใช้กันนะครับ