สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ดินเค็ม กับปัญหาการแพร่กระจายที่เพิ่มมากขึ้น

ดิน คือ ปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกพืช หรือการเลี้ยงสัตว์ ถ้าสภาพดินในพื้นที่เพาะปลูกของเพื่อน ๆ เกษตรกรคนไหนมีปัญหา รับรองว่าจะต้องมีภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายในการแก้ไข ปรับปรุงสภาพดินตามมาอีกมาก

ในบทความนี้ผมจะขอหยิบเอาเรื่องปัญหาดินเค็ม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของเพื่อนๆ เกษตรกรในภาคอีสาน เพราะมีพื้นที่ดินเค็มมากถึง 17.8 ล้านไร่  และมีพื้นที่เสี่ยงที่จะกลายสภาพเป็นดินเค็มเพิ่มอีกประมาณ 19.4 ล้านไร่  หากเพื่อนเกษตรกรคนไหน นึกภาพดินเค็มไม่ออกขอให้นึกถึงภาพของ “ทุ่งกุลาร้องไห้” ในอดีตเมื่อ 30 ปีก่อน ที่มีแต่ความแห้งแล้ง ไม่มีแม้แต่หย่อมหญ้า ผืนดินแตกระแหงนั่นล่ะครับคือพื้นที่ดินเค็ม

ดินเค็ม หมายถึง ดินที่มีปริมาณ “เกลือ” ที่ละลายน้ำได้ สะสมอยู่ในเนื้อดินเยอะมาก ส่งผลทำให้พืชที่นำไปปลูกในดินบริเวณนั้นเติบโตได้ไม่สมบูรณ์ เกิดอาการขาดน้ำ หรือมีการสะสมพิษจากความเค็มของเกลือที่อยู่ในดิน ทำให้พืชตายลงในที่สุด

สาเหตุที่พบดินเค็มมากที่สุดในภาคอีสาน เพราะเมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน พื้นที่ภาคอีสานเคยเป็นทะเลหรืออยู่ติดทะเลมาก่อน ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา เปลือกโลกมีการยกตัว จนเกิดเป็นทิวเขาที่ราบสูง และที่เป็นแอ่งกระทะ เช่น แอ่งโคราช แอ่งสกลนคร ในปัจจุบัน ทำให้ผืนดินบริเวณนี้หลายแห่ง เต็มไปด้วยชั้นหินเกลือใต้ดินจำนวนมาก และส่งผลความเค็มไปถึงระบบน้ำบาดาลที่อยู่ใต้ดินเกือบทุกระดับความลึก และน้ำเค็มใต้ดินที่อยู่ระดับใกล้ผิวดิน เมื่อถูกแสงแดด ความร้อน น้ำก็จะระเหยขึ้นมายังผิวดินพร้อมกับนำเกลือขึ้นมาด้วย เมื่อน้ำระเหยแห้งไปแล้ว ก็จะทำให้มีเกลือเหลือสะสมอยู่บนผิวดิน ซึ่งการเกิดปัญหาดินเค็มแบบนี้เป็นฝีมือของธรรมชาติครับ

ยังมีปัญหาดินเค็มที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์  เช่น การทำนาเกลือ  สร้างอ่างเก็บน้ำ การขุดหน้าดิน การขุดเจาะน้ำบาดาล สิ่งเหล่านี้ทำให้ระดับน้ำใต้ดินมีการเปลี่ยนแปลง ไหลเวียน เคลื่อนตัวไปแทนที่กัน จากที่สูงไหลไปสู่ที่ต่ำ น้ำจึงเป็นตัวการแพร่กระจายความเค็ม โดยพาเอาเกลือจากที่หนึ่ง แพร่กระจาย ไปยังอีกที่หนึ่งโดยไม่สามารถควบคุมได้ สาเหตุนี้จึงทำให้เกิดเป็นพื้นที่เสี่ยงที่มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาดินเค็มตามมาเพิ่มอีกจำนวนมาก

แม้ปัญหาดินเค็ม จะสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ทางการเกษตร แต่ก็พบว่ายังมีพืชพันธุ์อีกหลายชนิดที่สามารถทนความเค็มอยู่ได้ ในดินที่มีระดับความเค็มแตกต่างกันไป โดยเราสามารถ แบ่งลักษณะของพื้นที่ดินเค็มออกตามระดับความเค็ม โดยการใช้เครื่องมือวัดค่าความเค็ม เพื่อหาทางปรับปรุงสภาพดิน หรือ หาพันธุ์พืชที่ทนต่อความเค็มในระดับต่างๆ มาปลูก เพื่อหาประโยชน์จากพื้นที่ให้ได้มากที่สุดครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook