สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ชันโรง แมลงจิ๋วผลิตภัณฑ์แจ๋ว

ชันโรงเป็นชื่อของแมลงชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในอันดับเดียวกับผึ้ง มีขยยาดตัวที่เล็กกว่าผึ้งและไม่มีเหล็กไน โดยแต่ละภาคของประเทศไทยเรามีชื่อเรียกแมลงชนิดนี้แตกต่างกันไป เช่น ในภาคเหนือจะเรียกชันโรงว่า “ขี้ตัวนี” ส่วนในภาคใต้จะเรียกว่า “แมลงอุง” ขณะที่ภาคอีสานจะเรียกว่า “ขี้สูด” แต่ภาคตะวันออกกลับเรียกว่า “อีโลม” ยิ่งไปกว่านั้นทางภาคตะวันตกกลับเรียก ว่า “ตัวตุ้งติ้ง”

ชันโรงในประเทศไทยถูกแบ่งตามลักษณะของการสร้างรังได้เป็นสอง 2 ใหญ่คือกลุ่มที่สร้างรังลักษณะเป็นรวงโดยสร้างรังในโพรงต้นไม้ที่มีชีวิตและสร้างรังใต้ดิน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งนั้นสร้างรังลักษณะเป็นกลุ่มก้อนในภาชนะที่เป็นโพรงหรือโพรงเทียมที่คนจัดหาให้ ซึ่งประเทศไทยเราสำรวจพบชันโรงถึง 24 ชนิดเลยครับ

ชันโรงจะให้ผลิตภัณฑ์หลายชนิดคล้ายผึ้ง เช่น เกสร น้ำหวาน และยางไม้ โดยเกสรชันโรงที่เก็บจากดอกไม้แต่ละชนิดนั้นจะเลือกเก็บเกสรที่มีสารโคลีนมากเป็นพิเศษและสารนี้มีอยู่ในตัวของชันโรงมาก ทำให้ระบบประสาทและการรับความรู้สึก รวมถึงกล้ามเนื้อของชันโรงมีประสิทธิภาพมาก ส่งผลต่อการบินคดเคี้ยวไปมาในที่แคบๆ ได้อย่างดีซึ่งผึ้งชนิดอื่นๆ บินไม่ได้เหมือนชันโรง จึงทำให้เป็นแมลงที่ช่วยในการผสมได้ดีกว่าผึ้ง

น้ำหวานของชันโรงหรือที่เราเรียกว่าน้ำผึ้งชันโรงนั้นมีรสกลมกล่อมและรสชาติดี โดยแต่ละชนิดมีรสชาติเฉพาะตัว โดยเฉพาะผลผลิตที่ได้จากชันโรงวรรณะนางพญาแต่ในบางฤดูอาจจะมีรสเปรี้ยวโดยเฉพาะชันโรงที่หาอาหารอยู่บริเวณป่าชายเลน แม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้จากรังของชันโรงจะมีปริมาณน้อยกว่าผึ้งชนิดอื่น แต่ราคาน้ำหวานจากชันโรงมีราคาสูงกว่า ส่วนของยางไม้ชันโรงสามารถใช้สำหรับอุดรูรั่วของภาชนะต่างๆ และยังถูกนำมาใช้ในวัตถุมงคล เพื่ออุดฐานพระ หรือบริเวณที่ใช้บรรจุสารปรอทได้ดี

ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นของผลิตภัณฑ์จากชันโรง จึงทำให้เกิดการเลี้ยงชันโรงขึ้นมาราวๆ 10กว่าปีที่ผ่านมา โดยการคัดเลือกชนิดชันโรงในแต่ละพื้นที่มาเลี้ยงในลังไม้ โดยชันโรงนั้นเป็นแมลงที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีและเป็นมิตรกับมนุษย์  เมื่อเลี้ยงได้ระยะเวลาหนึ่ง ชันโรงวรรณะนางพญาจะสามารถปรับตัวได้และเพิ่มประสิทธิภาพในการวางไข่ได้ดีขึ้น จึงเกิดการสร้างรังเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอและสะสมน้ำผึ้งชันโรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสามารถขยายพันธุ์ได้ดีขึ้นและเอาชนะแมลงศัตรูต่างๆ ได้ จนทำให้การเพาะเลี้ยงชันโรงเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายขึ้น จึงทำให้เพื่อนๆ เกษตรกรหลายท่านหันมาเพาะเลี้ยงกัน เพื่อใช้ประโยชน์ชันโรงในการเป็นแมลงผสมเกสร หรือสร้างธุรกิจจากการขายรังชันโรง และการนำน้ำผึ้งชันโรงมาแปรรูป เป็นต้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook