ข้าวสังข์หยด มักจะถูกเรียกว่า ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของข้าวพันธุ์แรกของไทยเราที่ได้รับการรับรองตาม พรบ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 และเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จากยุโรปด้วย เป็นข้าวกล้องที่มีความโดดเด่นที่สีเมล็ดแดงเรื่อถึงแดงก่ำ เมล็ดข้าวเล็กเรียว มีความอ่อนนุ่ม อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ย่อยง่าย นิยมนำมาหุงแบบข้าวซ้อมมือ เมื่อหุงสุกแล้วเม็ดข้าวจะนุ่ม และคงความนุ่มไว้แม้ว่าจะจะเย็นตัวลงก็ตาม ที่เหมาะกับตลาดผู้บริโภคที่เน้นอาหารสุขภาพและผู้สูงอายุ และยังเป็นสินค้าที่ขายได้ราคาสูงและตลาดยังต้องการอยู่มาก
ข้าวสังข์หยดเป็นข้าวที่ไวต่อช่วงแสง มีปริมาณผลผลิตสูงใน 4 อำเภอในจังหวัดพัทลุง ได้แก่ อำเภอ เมือง อำเภอเขาชัยสน อำเภอควนขนุน และอำเภอป่าพะยอม ปลูกได้เฉพาะนาปี โดยจะเริ่มปลูกกันในเดือนสิงหาคมและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี แม้ว่าจะมีผลผลิตต่อไร่ต่ำมาก โดยมีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 400 กิโลกรัม/ไร่ แต่ราคาที่ตลาดรับซื้อนั้นสูงตามไปด้วย ทำให้ยังเป็นพันธุ์ข้าวที่ยังมีแรงซื้อรองรับอยู่มาก
ข้าวสังข์หยด เป็นข้าวสุขภาพ คือเป็นพันธุ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของประสาทและผิวหนัง มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 แคลเซียม และฟอสฟอรัส มีสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอวัย และลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยเรื้อรังต่างๆ จึงทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดที่มีราคาดีอยู่แล้ว ให้เพิ่มมูลค่ามากขึ้น ด้วยการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างหลายชนิด เช่น กะละแม น้ำนมข้าวสังข์หยด ขนมต่างๆ ที่ผลิตจากแป้งข้าวสังข์หยด คุกกี้ ไอศกรีม และแป้งข้าวกล้องสังข์หยด เป็นต้น
นอกจากนี้รำข้าวและปลายข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากผลผลิต ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนำมารำข้าวมาสกัดเป็นน้ำมันรำข้าวสังข์หยด และยังสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ที่มีโภชนาการสูงแต่ราคาถูกอีกด้วย
ตลาดหลักในต่างประเทศของข้าวสังข์หยดที่ผ่านมาคือประเทศจีน โดยมียอดการสั่งซื้อประมาณ 15-20 ตันต่อเดือน และสำหรับการผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์นั้นจะมีประเทศสิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้การทำนาข้าวสังข์หยดนั้นมีความมั่นคงด้านราคา เพราะตลาดยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะข้าวสังข์หยดอินทรีย์
การปลูกข้าวสังข์หยดอินทรีย์นั้นควรปลูกแบบนาดำ ควบคุมน้ำเข้านาให้เหมาะสมเพื่อควบคุมวัชพืช บำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ เช่นปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยพืชสด และหลังการเก็บเกี่ยวควรปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อบำรุงดินอย่างสม่ำเสมอครับ งดการใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้สารเคมีกำจัดแมลงและศัตรูพืช พื้นที่ในการปลูกต้องไม่มีการใช้สารเคมีมาก่อน และห้ามชิดติดกับแปลงที่ใช้สารเคมีเพราะมีโอกาสในการปนเปื้อนได้ครับ