สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

กล้วยเล็บมือนาง ของดีแดนใต้

กล้วยเล็บมือนาง เป็นพืชพื้นบ้านเฉพาะถิ่นในเขตตอนบนของภาคใต้ ที่นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีสร้างรายได้จากตลาดภายในประเทศและต่างประเทศอย่างมาก โดยแต่ละจังหวัดที่ปลูกก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ในจังหวัดชุมพรซึ่งเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงที่สุดในเรื่องกล้วยเล็บมือนางและจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นเพียง 2 จังหวัดที่เรียกชื่อกล้วยเล็บมือนาง ส่วนในจังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า กล้วยหมาก พัทลุงเรียกกล้วยดอกหมาก และภูเก็ต เรียกว่า กล้วยข้าว เป็นต้น จุดเด่นของกล้วยเล็บมือนางนั้น นอกจากเนื้อผลที่มีเนื้อแน่น สีเหลืองเข้มสวย กลิ่นชวนรับประทาน ก้านผลแข็งและสั้น แต่ละหวีมีการรียงตัวของผลได้ดี ง่ายในการบรรจุและขนส่ง ขนาดของผลพอดีกับการรับประทานต่อครั้ง ทำให้เป็นที่นิยมของตลาด โดยนำมารับประทานทั้งแบบผลสดและแบบที่แปรรูปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น กล้วยตาก กล้วยอบ กล้วยทอด แต่ละส่วนของต้นกล้วยเล็บมือนางนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ นอกเหนือจากนำผลไปรับประทาน ยังสามารถนำใบไปห่ออาหาร หยวกอ่อนนำมาปรุงเป็นอาหารคาวได้ ส่วนของก้านใบใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ กาบลำต้นนำมาใช้เป็นเชือก เป็นต้น

กล้วยเล็บมือนางเป็นกล้วยที่อยู่ในกลุ่มกล้วยไข่ กลายพันธุ์มาจากกล้วยป่า แต่ก่อนมีชื่อว่ากล้วยนิ้วมือนาง ลำต้นอวบกลม ลำต้นมีทั้งสีชมพูเรื่อและเข้ม สีม่วงแดง และสีเขียวแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์  ใบสีเขียวไม่ยาวเหมือนใบกล้วยพันธุ์อื่น ผลกล้วยเรียวเล็ก ปลายผลสอบเล็กละม้ายนิ้วมือ ภายในผลจะมีเมล็ดแข็งสีดำ แต่ในบางพันธุ์อาจจะไม่พบเมล็ดก็ได้ เปลือกผลบาง เมื่อนำไปอบแห้งจะได้กล้วยอบเนื้อเหนียวนุ่ม ฉ่ำ แตกต่างจากกล้วยบางชนิดที่เมื่ออบแล้วจะมีเนื้อผิวแห้งเกินไป กล้วยเล็บมือนางอบยังมีรสหวานตามธรรมชาติไม่ต้องแต่งเติมน้ำตาลหรือสารสังเคราะห์เพิ่ม

ส่วนกล้วยเล็บมือนางชุมพรนั้น ต้องเรียกได้ว่ามีความโดดเด่นอย่างมาก จนได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 มีรายการสินค้า 2 รายการคือ กล้วยเล็บมือนางและกล้วยเล็บมือนางอบแห้ง เพราะจังหวัดชุมพรนั้นมีลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการปลูกกล้วยเล็บมือนาง สภาพดินร่วนปนดินเหนียวที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหารที่สำคัญของกล้วยชนิดนี้ โดยเฉพาะโปแทสเซียมและฟอสฟอรัส และมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินที่ 5.0-6.5 ซึ่งเหมาะแก่การเจริญเติบโตของกล้วยชนิดนี้มากจนกลายเป็นกล้วยเล็บมือนางที่มีเอกลักษณ์และมีคุณภาพครบถ้วน

เพื่อให้คงคุณลักษณะเด่น ของกล้วยเล็บมือนางชุมพร เพื่อนๆ เกษตรกรในพื้นที่ มักจะเริ่มปลูกกล้วยในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ผสมผสานกับพืชยืนต้นขนาดใหญ่ เพื่ออาศัยร่มเงาของพืชเหล่านั้น ช่วยพรางแสงได้อย่างน้อย 40% เมื่อปลูกได้ราว 7 เดือนจึงเริ่มทำการเก็บเกี่ยวผลสุก โดยสังเกตจากดอกบริเวณปลายผลกล้วยจะสั้นลง สีผิวผลกล้วยจะมีสีออกเหลือง ปลายผลมีสีดำ ผลไม่มีเหลี่ยมเหมือนผลอ่อน แล้วจึงนำไปขายเป็นหวีเพื่อทานสดหรือนำไปแปรรูปต่อไปครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook