สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปุ๋ยเร่งดอก เรื่องต้องคิดก่อนตัดสินใจใช้

ปุ๋ยเร่งดอก คือปุ๋ยที่มีธาตุอาหารสำคัญในการกระตุ้นการออกดอกและแตกตา ซึ่งมีจำหน่ายในทั้งแบบปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำหมัก และปุ๋ยหมักต่าง ๆ สำหรับปุ๋ยเคมีผสมที่มีการรวมแม่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารต่าง ๆ มาผสมเข้าด้วยกันนั้น จะเน้นปริมาณสัดส่วนธาตุอาหารประเภทฟอสฟอรัสในปุ๋ยมากกว่า ธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการแตกดอกของพืช เพิ่มการเกิดสีของดอกให้สวยขึ้น เสริมสร้างให้ดอกมีขั้วที่แข็งแรงไม่ร่วงหล่นง่าย ทำให้ตาดอกผลิเร็วขึ้น โดยสูตรปุ๋ยเคมีผสมนั้น จะมีตัวเลขระบุธาตุอาหาร 3 ตัวหลัก ว่ามีน้ำหนักกี่กิโลกรัม ต่อปริมาณปุ๋ยน้ำหนัก 100 กิโลกรัม เช่น สูตรปุ๋ยสูตร 12-24-12

ตัวแรก บอกถึง สัดส่วนของไนโตรเจน (N) น้ำหนัก 12 กิโลกรัม

ตัวที่สอง บอกถึง สัดส่วนของฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (P) น้ำหนัก 24 กิโลกรัม

ตัวที่สาม บอกถึง สัดส่วนของโพแทสเซียมที่ละลายน้ำ (K) น้ำหนัก 12 กิโลกรัม

รวมเป็นน้ำหนักธาตุอาหาร 48 กิโลกรัมต่อปุ๋ยทั้งหมดที่น้ำหนัก 100 กิโลกรัม โดยน้ำหนักที่เหลืออีก 52 กิโลกรัมเป็นสารอื่นๆ

การเลือกใช้ปุ๋ยในแต่ช่วงระยะการเติบโตนั้นมีความสำคัญมาก เพราะในแต่ละช่วงพืชจะมีช่วงการดึงปุ๋ยไปใช้ประโยชน์แตกต่างกัน โดยเฉพาะไม้ผลนั้นจะแบ่งการใช้ปุ๋ยเพื่อบำรุงต้นในแต่ละช่วงแตกต่างกัน เริ่มตั้งแต่การให้ปุ๋ยที่เน้นไนโตรเจนเร่งใบในช่วงต้นฝนและหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อพืชจะได้กักเก็บธาตุไว้ใช้ในการให้ผลผลิตในฤดูถัดไป เมื่อถึงช่วงใกล้แตกตาแตกดอกจะเปลี่ยนเป็นความต้องการปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงเพื่อเร่งดอก ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดโอกาสในการติดผลต่อไป

สำหรับปุ๋ยน้ำสกัดชีวภาพ สูตรเร่งดอกที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือสูตรฮอร์โมนไข่ โดย ให้นำไข่เป็ดหรือไข่ไก่ น้ำหนักรวม 5 กิโลกรัมมาบดทั้งเปลือกผสมในน้ำ 10 ลิตร กากน้ำตาล 5 กิโลกรัม ลูกแป้ง 1 ลูก และนมเปรี้ยว 1 ขวด บ่มหมักไว้ 1 สัปดาห์ เมื่อได้เวลา จึงนำหัวเชื้อน้ำหมักที่ได้บ่มไว้ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร ฉีดพ่นต้นพืชวันละ 2 ครั้งก่อนช่วงออกดอก

อย่างที่เราทุกคนทราบกันดีว่า การใช้ปุ๋ยเคมีจะออกฤทธิ์เร่งดอก เร่งผลได้รวดเร็วทันใจกว่าการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพต่างๆ แต่เราควรคำนึงผลกระทบในแง่ลบด้วย เพราะปุ๋ยเคมีนั้นเป็นปุ๋ยสังเคราะห์ที่มักจะส่งผลเสียทำให้ลดปริมาณอินทรียวัตถุที่สะสมไว้ในดินมาช้านาน ทำให้คุณสมบัติดินเสื่อมลง เกิดการขังน้ำเพราะดินขาดความร่วน สภาพความเปรี้ยวความเค็มของดินสูงเกิน จนไม่สามารถให้ผลผลิตที่ดีได้ ซึ่งถือว่าเป็นผลกระทบที่จะทำให้เกิดต้นทุนในการฟื้นฟูสภาพดินจำนวนมาก และสูญเสียโอกาสในการผลิตพืชผลออกสู่ตลาด ดังนั้นการที่เราจะใช้ปุ๋ยต่างๆ เพื่อเร่งดอก เร่งใบ เร่งผล นั้น จะต้องคำนึงถึงผลกระทบระยะยาวกันด้วยนะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook