มะม่วงกะล่อน เป็นชื่อของมะม่วงป่าพันธุ์หนึ่ง มีชื่อเรียกในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป เช่น มะม่วงเทียน มะม่วงเทพรส มะม่วงขี้ไต้ เป็นมะม่วงพันธุ์เก่าแก่ พบได้ตามป่าทั่วไปในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพราะมะม่วงเป็นพืชเขตร้อน จึงเติบโตได้ดีและเหมาะสมกับบ้านเรา ถิ่นกำเนิดของมะม่วงนั้นสันนิษฐานว่าอยู่ในแถบประเทศพม่าและอินเดียตะวันออก และขยายพันธุ์ออกไปประเทศอื่นๆ ที่มีภูมิอากาศร้อนทั่วโลก
มะม่วงป่าบ้านเรานั้นมีหลายพันธุ์หลายชื่อมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เช่น มะม่วงไข่แลน มะม่วงขี้ยา มะม่วงชัน มะม่วงป้อม รวมไปถึงมะม่วงกะล่อน ที่เป็นกลุ่มพันธุ์มะม่วงที่นิยมนำมาแปรรูป มากกว่านำมารับประทานผลสุก แม้ว่าผลดิบจะได้รับความนิยมนำจิ้มกะปิโหว่ น้ำปลาหวาน เป็นอาหารทานเล่นก็ตาม และยังมีการแปรรูปมะม่วงกะล่อนดิบเป็นมะม่วงกะล่อนแดดเดียวตามแนวทางการถนอมอาหารในยุคโบราณ ที่คงรสชาติความเปรี้ยว หอม ของมะม่วงกะล่อนไว้ และในยุคนี้หารับประทานได้ยากนัก จนทำให้กลายเป็นสินค้าขายดีกันไปเลยครับ
มะม่วงกะล่อนนั้น เป็นต้นพืชที่เติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ มีลำต้นตั้งตรง สูงใหญ่ถึง 30 เมตร แตกพุ่มหนาแน่น เปลือกผิวลำต้นแตกร่องทั้งลำต้น ใบสีเขียว เนื้อเรียบมันทั้งสองด้าน แตกดอกช่วงต้นปีและให้ผลช่วงเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม นอกจากผลแล้ว เรามักจะนำดอกอ่อนและยอดใบอ่อนมารับประทานแกล้มกับอาหารคาวที่มีรสจัดจ้าน เช่น น้ำพริก ยำ และลาบ เป็นต้น
ลักษณะโดดเด่นของมะม่วงกะล่อนพันธุ์พื้นบ้านที่ยังไม่ได้มีการพัฒนาพันธุ์นั้น สีเปลือกของผลสุกจะไม่เป็นสีเหลืองเหมือนมะม่วงพันธุ์อื่นๆ แต่จะยังเป็นสีเขียว แต่เนื้อผลด้านในกลับนิ่มมีกลิ่นหอม รสชาติหวาน ทำให้มีมีการนำมารับประทานแบบง่ายๆ ด้วยการเฉือนหัวมะม่วงออก และบีบเอาเมล็ดออก แล้วดูดรับประทานเนื้อในของผลสุก เพราะมะม่วงกะล่อนมีผลเล็ก ไม่จำเป็นต้องยุ่งยากในการปอกเปลือก จนเป็นที่มาของเมนูข้าวเหนียวมะม่วงกระล่อนที่ได้รับความนิยม ที่พัฒนามาจาก “มะม่วงโบก”อาหารพื้นถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มักจะนำข้าวเหนียวนึ่งธรรมดาสอดไส้เข้าไปในลูกมะม่วงสุกและรับประทานเป็นอาหารหลักของมื้อหรือเป็นอาหารว่างระหว่างมื้อ
ส่วนการพัฒนามาเป็นข้าวเหนียวมูนนั้น ก็เพียงนำมะม่วงกะล่อนสุกที่เราล้างผิวนอกให้สะอาด แล้วค่อยๆ ใช้มือนวดคลึงผลเพื่อให้เม็ดหลุดออกจากเนื้อผล เฉือนหัวมะม่วงประมาณ ¼ ของความยาวของผล แล้วนำเม็ดออก แล้วใช้ช้อนขูดเนื้อมะม่วงสุกเล็กน้อยให้เนื้อยังคงอยู่ในผล แล้วนำข้าวเหนียวมูนเข้ามาคลุกในผล รับประทานเป็นข้าวเหนียวมูนมะม่วงกะล่อนได้แล้วครับ สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่สนใจนำไปผลิตเพื่อทำเป็นการค้า ก็ลองพลิกแพลงกันดูนะครับ