ต้นมะหวด เป็นต้นพืชที่ให้ผลไม้พื้นบ้าน เป็นพืชสามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนชื้นได้ดี ชื่นชอบแสงแดง มักขึ้นได้ดีในบริเวณที่มีแสงแดดสาดส่องถึงเกือบทั้งวัน มักจะพบเห็นต้นมะหวดในภาคอีสานส่วนใหญ่ เพื่อนๆ เกษตรกรมักจะปลูกไว้เพื่อบริโภคผล ผลมะหวดผลสุกมีเนื้อฉ่ำน้ำ รสชาติหวานฝาดกำลังดี แต่เดิมนั้นสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในป่าละเมาะ
ใบและเปลือกของต้นมะหวดยังมีประโยชน์สำหรับการนำมาแปรรูปใช้เป็นสีย้อมผ้า ใบจะให้สีเขียวขี้ม้า ส่วนต้นนั้นจะให้สีน้ำตาลปนม่วง เนื้อไม้ของต้นมะหวดจัดเป็นไม้มีความแข็งระดับกลางสามารถนำมาทำอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านเรือนได้อีกด้วย นอกจากนี้ผลสุกมะหวดสามารถทานได้ และยังสามารถนำผลสุกของมะหวดมาแปรรูปหมักเป็นไวน์ เนื่องจากมะหวดสุกรสชาติหวานฝาดกำลังดีเมื่อนำมาหมักก็จะได้แอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ
มะหวดจัดเป็นไม้ยืนต้นมีความสูงประมาณ 5-10 เมตร เป็นไม้ผลัดใบลักษณะลำต้นสูงแต่ลำต้นมีขนาดเล็กโปร่ง แตกกิ่งก้านสาขาเป็นกิ่งเล็กๆ จากกิ่งใหญ่ แตกใบไม่มากนัก ทำให้ต้นดูโปร่ง เป็นไม้เนื้อขรุขระ ลักษณะไม้แข็งปานกลาง มีสีน้ำตาลอมเหลือง บริเวณกิ่งมีขนปกคลุมเล็กน้อย ส่วนใบของมะหวดนั้นบนใบจะมีสีเขียวเข้มกว่าล่างใบ ผิวใบเรียบใบเรียวยาว เป็นใบคู่เนื้อใบเหนียว ออกสลับกันทั้งสองกิ่งก้าน ดอกมีขนาดเล็กดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกตูมจะมีสีขาวเมื่อบานออกจะให้สีเหลือง หนึ่งดอกสามารถให้ผลโดยออกผลมีลักษณะเป็นพวง พวงละสามผล ผลอ่อนจะมีสีเขียวและค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีส้ม สีแดง เมื่อสุกก็จะเป็นสีแดงอมม่วง และเมื่อสุกจัดก็จะเปลี่ยนสีกลายเป็นสีม่วงอมดำ
การปลูกต้นมะหวดสามารถทำได้ทั้งวิธีการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่งซึ่งจะให้ขนาดต้นกำลังดีและเจริญเติบโตได้เร็ว แต่วิธีที่เกษตรกรส่วนใหญ่มักนิยมปลูกกันก็คือ การเพาะเมล็ด โดยจะเริ่มจากการเพาะเมล็ดลงในกระบะเพาะ หรือ ถุงเพาะชำพืช เมล็ดที่ใช้จะใช้เมล็ดจากผลแก่ของต้นมะหวด หรือ ใช้เมล็ดจากผลที่ร่วงโรยจากต้นนั่นเอง เมื่อได้เมล็ดมาแล้วให้นำมาตากแดด ประมาณ 7-10 วัน เตรียมดินโดยใช้ดินร่วนปนทรายที่ผ่านการกำจัดวัชพืชและตากแดดไว้เรียบร้อยแล้วนำมาใส่ถุงเพาะอาจจะใส่กาบมะพร้าว ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักรองก้นถุงก็ได้ และนำเมล็ดมาเพาะลงถุง โดยถุงหนึ่งหยอดเมล็ดลงไป 2-3 เมล็ด รดน้ำให้ชุ่ม รอเวลาแค่ 2-4 อาทิตย์ ก็สามารถย้ายลงปลูกในแปลงและบำรุงรักษา ให้ปุ๋ย ให้น้ำ กำจัดวัชพืช รอจนมะหวดเติบใหญ่ให้ผลผลิตครับ