สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การแปรรูปมะขามแช่อิ่ม

การแปรรูปมะขามแช่อิ่ม คือการถนอมอาหารวิธีหนึ่งที่ไม่ทำให้ผลไม้เสื่อมหรือเน่าเสีย นอกจากถนอมไว้ใช้รับประทานกันในครัวเรือนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรของเพื่อนๆ เกษตรกร ที่สามารถเก็บผลผลิตได้นาน ชะลอไม่ให้เกิดผลผลิตล้นตลาด และยังส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ เพราะมะขามนั้นเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่มีผู้นิยมบริโภคอย่างกว้างขวาง รวมทั้งพี่น้องคนไทยในต่างประเทศก็ยังถือว่าเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่อีกด้วย หากเรามีการแปรรูปได้ตรงใจตลาด จะทำให้เราได้รับรายได้ที่มากขึ้นและยึดเป็นธุรกิจหลักได้อย่างยั่งยืน

การแช่อิ่มมะขามนั้นเป็นการแปรรูปมะขามวิธีหนึ่งนอกเหนือจากการทำมะขามดอง หรือรอจนกว่ามะขามสุกแล้วจึงทำเป็นน้ำมะขามเปียก โดยวิธีการผลิตหลักๆ นั้นจะนำมะขามสดที่เราเก็บเกี่ยวมาจากต้นมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด และผ่านกระบวนการต่างๆและนำไปในสารละลายน้ำตาลโดยเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตามสูตรของผู้ประกอบการแต่ละคน และตามที่กลุ่มเป้าหมายหลักที่เราตั้งตำแหน่งสินค้าไว้มีความนิยม จนกว่าผลไม้จะอิ่มตัวเต็มที่ ซึ่งวิธีการแปรรูปเช่นนี้มีข้อดีคือ จะมีความหวานจากน้ำตาลซึมเข้าไปในเนื้อมะขามได้อย่างพอดี และหากจะยืดอายุให้นานกว่านั้นให้นำไปทำแห้งด้วยการตากแดดก่อนที่จะนำไปบรรจุในบรรจุภัณฑ์

มะขามเป็นพืชที่ให้ผลผลิตเพียงปีละครั้ง ในช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม แต่ความต้องการมะขามนั้นมีตลอด 365 วัน หากเราสามารถมีผลผลิตมะขามแปรรูปขายได้ทั้งปี จะทำให้เรามีรายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระบวนการแช่อิ่มของผู้ผลิตแต่ละเจ้าในตลาดก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือการคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพและใส่ใจในทุกขบวนการ โดยปัจจุบันควรเลือกใช้เป็นมะขามเปรี้ยวยักษ์ซึ่งมีฝักใหญ่ เนื้อแน่น เมื่อผ่านการแปรรูปแช่อิ่มแล้วจะให้เนื้อที่กรอบ ฝักอิ่มแน่น  คัดน้ำตาลคุณภาพที่ไม่มีการปนเปื้อนมาเคี่ยวเป็นน้ำเชื่อม น้ำที่ใช้เป็นส่วนผสมต้องเป็นน้ำที่สะอาด สถานที่ประกอบอาหารต้องสะอาด ถูกสุขอนามัย เป็นพื้นที่โล่ง และควรมีมุ้งไนล่อนกันแมลงไม่ให้ตอมมะขามและป้องกันสิ่งปนเปื้อนเข้าไปเจือปนในมะขามที่อยู่ในกระบวนการแปรรูป

ปัจจุบันมีเพื่อนๆ เกษตรกรหันมาแปรรูปมะขามสดมากขึ้นและได้พัฒนาระบบการทำให้มะขามแปรรูปแช่อิ่มแห้งเร็วขึ้นด้วยการใช้ระบบอบแห้งแบบเรือนกระจกด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้แทนการตากแห้งด้วยแดด เพื่อจะได้ผลิตสินค้าได้มากขึ้นและเร็วขึ้น และไม่ต้องพึ่งพิงสภาพภูมิอากาศมากนัก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้จะช่วยพัฒนาให้สินค้าเกษตรของเรามีอายุที่ยาวนานยิ่งขึ้น มีปริมาณการผลิตตลอดทั้งปี เพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้และยังสร้างรายได้ได้อย่างสม่ำเสมอ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook