สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปลาไน เพาะเลี้ยงได้ง่าย

ปลาไน เป็นหนึ่งในปลาน้ำจืด อาศัยในแหล่งน้ำที่มีโคลน ไม่ชอบน้ำเย็น ชอบอยู่ในน้ำที่นิ่งและมีสีขุ่น เช่นหนองน้ำ แม้น้ำ คลองและบึงน้ำ สามารถทนทานต่อสภาพอากาศได้ดี ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย เป็นปลาที่มีความกลัวและตกใจง่าย รูปพรรณสัณฐานจะใกล้เคียงกับปลาตะเพียนเพราะเป็นตระกูลเดียวกัน ลำตัวกำยำ ปกคลุมไปด้วยเกล็ดเกือบทั้งตัวเว้นส่วนหัว ริมฝีปากหนา ไม่มีฟัน มีครีบยาว สีสันของลำตัวแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่ โดยมีทั้งสีทอง สีเงิน สีเหลือง และเทาปนเงิน แม้ว่าปลาไนตัวผู้และตัวเมียจะมีลักษณะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่สามารถสังเกตได้จากท้องของตัวเมียจะอวบป่อง ส่วนตัวผู้นั้นจะมีลำตัวเล็กเรียว เป็นปลาที่เนื้อแน่น รสชาติดี จึงนิยมนำมาประกอบอาหาร จนเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

 

ปลาไนเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ใช้อาหารที่หาได้จากธรรมชาติและพื้นบ้าน เช่น ลูกน้ำ แหน รากผักบุ้ง ลูกกุ้ง ลูกน้ำ จุลินทรีย์ในน้ำ เป็นต้น แต่หากจะเร่งให้ได้ขนาดที่โตได้ไวขึ้นอาจจะให้อาหารประเภท หนอนและรำเพิ่ม ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6 เดือนก็จะได้ขนาดตัวที่มีน้ำหนักประมาณ 5-6 ขีดที่สามารจับไปขายได้แล้ว  นอกจากนั้นยังหาพันธุ์และเพาะพันธุ์ได้ง่าย มีอัตราการรอดสูง แต่ละรุ่นให้ลูกปลาจำนวนมาก มีความต้านทานโรคสูง ไม่กินลูกตัวเองเหมือนปลาบางชนิด จนมีเพื่อนๆ เกษตรกรหลายรายหันมาเลี้ยงปลาเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม

การเพาะพันธุ์ปลาสำหรับการเริ่มต้นครั้งแรกนั้นนิยมเพาะพันธุ์โดยเตรียมบ่อเลียนแบบคลองธรรมชาติ เมื่อขุดบ่อเสร็จแล้วให้โรยปูนขาวในสัดส่วน 1 กิโลกรัมต่อเนื้อที่บ่อ 10 ตารางเมตร โดยโรยให้ทั่วทั้งพื้นที่ ตากไว้ประมาณ 2-4สัปดาห์จนกว่าดินจะแตกแห้ง เพื่อปรับดินในบ่อให้มีค่าความเป็นกรดลดลง หลังจากนั้นจึงนำเอามูลวัว มูลไก่ มูลหมู ตากแห้ง อย่างน้อย 50 กิโลกรัมต่อไร่รองไว้ที่ก้นบ่อเพื่อทำให้น้ำเป็นสีเขียวธรรมชาติและเป็นอาหารของปลาต่อไป แล้วปล่อยน้ำเข้าบ่อโดยใช้มุ้งเขียวครอบปลายท่อปล่อยน้ำไว้เพื่อกันสิ่งแปลกปลอมไหลเข้ามาในบ่อ จัดเตรียมกระชังไนลอนที่มีตาข่ายถี่เพื่อใช้เป็นที่ผสมพันธุ์ แบ่งพักพ่อ-แม่พันธุ์กับลูกพันธุ์และใช้เป็นที่วางไข่

เมื่อเตรียมพ่อ-แม่พันธุ์เรียบร้อยแล้วก็นำปล่อยลงในบ่อ ซึ่งควรปล่อยลงบ่อช่วงพระอาทิตย์ใกล้ตกดินเพื่อให้ปลาผสมพันธุ์กันในช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในวันรุ่งขึ้น โดยใช้แม่พันธุ์ 10 ตัวต่อพ่อพันธุ์ 20 ตัวต่อ 1 กระชัง  เมื่อผสมพันธุ์เสร็จให้แยกพ่อแม่พันธุ์ออกจากบ่อเพาะพันธุ์ไปพักในบ่อเลี้ยงแยกออกไป ไข่ปลาจะใช้เวลาประมาณ 48 ชั่วโมงเพื่อฟักเป็นตัว เราจึงย้ายไปลงในบ่ออนุบาลต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook