สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

มะม่วงพันธุ์โชคอนันต์

มะม่วงโชคอนันต์ เป็นมะม่วงพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มผู้บริโภคที่ชอบรับประทานมะม่วงสุก เพราะมีสีเนื้อมะม่วงที่เหลืองเข้มจัด เนื้อแน่น รสชาติหวาน ผิวเนียน ผลใหญ่ มีเนื้อเยอะ ส่วนผลดิบสามารถนำมาแปรรูปแทนมะม่วงแก้ว เพราะมีเนื้อเยอะและมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวได้มากกว่า โดยสามารถนำมาเข้าสู่กระบวนแปรรูปได้หลายแบบ ทั้งทำเป็นมะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม มะม่วงกวน มะม่วงแผ่น และมะม่วงกระป๋อง ซึ่งยังมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีความต้องการรับซื้อมะม่วงดิบพันธุ์นี้อยู่ แม้ว่าในท้องตลาดจะไม่นิยมนำมาทานผลสดดิบเพราะเนื้อมีรสจืด แต่ก็พบว่ามีการนำมารับประทานจิ้มพริกเกลือหรือกะปิหวานอยู่บ้าง ส่วนผลดิบที่มีขนาดเล็กและยังอ่อนสามารถนำส่งขายยังประเทศเมียนม่าและกัมพูชาได้ เพราะในประเทศดังกล่าวนิยมรับประทานมะม่วงผลอ่อนกันอย่างกว้างขวาง จึงทำให้มะม่วงพันธุ์นี้มีตลาดรองรับที่กว้างมาก

มะม่วงโชคอนันต์ เป็นพืชที่มีเมล็ดเดี่ยวและมียางสีขาวขุ่นที่อาจทำให้เกิดการแพ้และคันได้ เช่นเดียวกับ มะปราง เป็นมะม่วงที่สามารถออกผลได้ตลอดทั้งปี จนบางแห่งเรียกชื่อว่ามะม่วงสามฤดู โดยส่วนใหญ่จะมีความสูงเกือบ 10 เมตร ลำต้นตรง ผิวเปลือกของลำต้นมีสีน้ำตาลเทาเข้ม เนื้อผิวแข็งไม่เรียบแตกคล้ายเกล็ด มีกิ่งใหญ่ ให้ใบทรงพุ่ม เนื้อไม้ด้านในจะมีสีน้ำตาลอมแดงเมื่อแก่เต็มที่ รากจะหยั่งลึกลงไปในดินราว 30-60 เซนติเมตร ก่อนที่จะแผ่เป็นแนวขนานออกไปราวๆ 750 เซนติเมตร หากไม่ได้รับการพูนโคนอาจจะพบว่ารากจะแผ่รอบโคนต้นบริเวณผิวดินได้

ใบของมะม่วงจะยาว เรียว ปลายแหลม ขอบใบหยักเป็นลอน ใบเรียบ เมื่อแตกใบแกจะมีสีแดงอมน้ำตาล แต่เมื่อแก่จะมีสีเขียว มัน วาว แตกดอกทะวาย ให้ผลเป็นผลเดี่ยว มะม่วงโชคอนันต์เป็นมะม่วงที่แตกดอกทั้งปี มีโอกาสออกผลได้ดี โดยเฉลี่ยให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 2 ครั้งต่อปี ผลโตเต็มที่อาจมีขนาดถึง 250-300 กรัม และยังให้ผลที่ดก เฉลี่ยพวงละ 4-5 ผล

การขยายพันธุ์นั้นนิยมทำด้วยการทาบกิ่งเพราะจะทำให้มีระบบรากที่ดี และได้สายพันธุ์ตรง สามารถปลูกได้ในดินร่วนและดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นรดน้ำ กำจัดวัชพืช สอดส่องตรวจตราโรคพืชและแมลงที่ก่อกวน หมั่นให้ปุ๋ยคอกและพ่นชีวภัณฑ์กันแมลง รวมทั้งนำดินมาพูนโคน ใช้เวลาดูแลราว 2 ปี ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตชุดแรกได้ และหลังจากนั้นก็สามารถเก็บผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องในทุกปี อย่างน้อย 2 รอบแต่ปีทีเดียวครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook