น้อยหน่า ภาษาอังกฤษ เรียกว่า custard apple หรือ Sugar Apple เป็นผลไม้ที่ปรับตัวเก่ง ปลูกได้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศของไทย แหล่งปลูกหลักอยู่ที่อำเภอปากช่อง โคราช ผลผลิตส่วนใหญ่ขายในประเทศ มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ส่งออกไปยัง จีน ฮ่องกง ออสเตรเลียและตะวันออกกลาง
น้อยหน่าเป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวาน เนื้อละเอียด มีกลิ่นหอม มีเนื้อผลเยอะ ทำให้เป็นนิยมในตลาด เพื่อนำไปรับประทานสด ทำเป็นไอศกรีม เจลลี่และแยม ขณะเดียวกัน เมล็ด ยังสามารถนำมาสกัดเพื่อให้น้ำมันเพื่อผลิตสบู่ กากที่เหลือจากการสกัดสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์บำรุงพืช ลำต้นน้อยหน่าเมื่อตัดทิ้งสามารถนำมาเป็นขอนไม้เพาะเห็ดหูหนูได้ผลดีมาก และใบน้อยหน่ายังใช้เป็นยาฆ่าเหา ส่วนเมล็ดและรากใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้ เห็นไหมครับ สรรพคุณ น้อยหน่า เยอะแยะเลย
พันธุ์น้อยหน่าที่นิยมปลูกในบ้านเรา อาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องที่ แต่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ พันธุ์พื้นเมืองหรือน้อยหน่าฝ้ายกับอีกพันธุ์คือน้อยหน่าหนัง น้อยหน่าฝ้าย จะมีเปลือกหนา ผลมีทรงคล้ายหัวใจ เนื้อผลไม่ละเอียดนัก มีเมล็ดเยอะ มีสีเปลือกผลแตกต่างกัน 3 สี คือ สีเขียว สีเหลือง และสีม่วง ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ที่เราเลือกนำมาปลูก โดยพันธุ์ฝ้ายเขียวได้รับความนิยมสูงสุดในประเภทน้อยหน่าพื้นเมือง เพราะรสชาติหวานหว่าเปลือกสีอื่น
ส่วนน้อยหน่าพันธุ์หนัง จะมีเปลือกบางไม่ยุ่ยเปลือกล่อน ดูจากเปลือกผิวจะเห็นได้ชัดว่าตาจะตื้นและใหญ่กว่าน้อยหน่าฝ้าย เนื้อผล หนา ละเอียด สีเปลือกก็แยกเป็น 3 สี คือ สีเขียว สีทองและสีครั่ง ซึ่งสีเขียวเป็นนิยมสูงสุดเช่นกันครับ
น้อยหน่าขึ้นได้ดีในที่ไม่ขังน้ำ แม้ว่าจะสามารถปรับตัวได้กับทุกสภาพดิน แต่ถ้าอยากให้เติบโตได้ดี ได้ผลดก ควรปลูกในดินร่วนปนทราย สามารถปลูกด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง ติดตา ต่อตอ เสียบกิ่งและปักชำ ได้หมดครับ แต่การปลูกด้วยเมล็ดจะทำให้ผลผลิตออกมาใกล้เคียงเมล็ดพันธุ์ที่สุดและประหยัดต้นทุน เพียงแค่เราคัดเลือกเมล็ดจากต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ ที่ให้ผลผลิตคุณภาพดี ทั้งขนาดผลและรสชาติ แล้วนำเมล็ดมาล้างให้สะอาด ผึ่งลมให้แห้ง แล้วนำไปแช่น้ำอุ่นให้พองตัว แล้วนำเมล็ดไปหยอดลงดินหลุมละ 3 เมล็ด ให้เป็นแถว ตามแนวเชือกที่เราเตรียมขึงไว้ เมื่อหยอดเมล็ดเสร็จ ให้กลบดินและคลุมด้วยฟาง และรดน้ำเลยครับ
เมื่อต้นน้อยหน่าโตให้คัดต้นที่แข็งแรงที่สุดในหลุมไว้ และทำการถอนต้นอื่นๆ ออก เพื่อให้ต้นที่เลือกไว้ได้ธาตุอาหารในดินและน้ำเต็มที่ และเมื่อครบ 1 ปี และทำการตัดแต่งกิ่งให้เหมาะสม และในปีที่ 2เราก็จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตกันได้แล้วครับ