สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ละหุ่ง พืชเศรษฐกิจของไทย

ละหุ่ง พืชเศรษฐกิจที่ไทยเราติดอันดับส่งออกอันดับต้นๆ ที่หลายคนเคยได้ยินชื่อแต่อาจจะไม่รู้จักหน้าตาและลักษณะของลำต้นและผลละหุ่งกันนัก ต้นละหุ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในหลายประเทศทางฝั่งตะวันออกของทวีปอัฟริกา เป็นพืชเมืองร้อนที่ได้กระจายพันธุ์ไปทั่วทุกประเทศที่มีภูมิอากาศเอื้ออำนวย ประเทศผู้ผลิตละหุ่งของโลก ได้แก่ ประเทศบราซิล อินเดีย ไทย ปากีสถาน และ ฟิลิปปินส์ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเภสัชภัณฑ์ ส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมพลาสติกเป็นต้น พื้นที่ปลูกละหุ่งในประเทศไทยเรานั้นกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ

ส่วนต่างๆ ของละหุ่งถูกนำมาใช้ประโยชน์มาช้านาน ยกตัวอย่างเช่นในประเทศอียิปต์ได้นำมาใช้เติมในตะเกียง และใช้ผสมในยา ส่วนในประเทศจีนยุคโบราณได้นำน้ำมันละหุ่งมาผสมกับสีทำเป็นหมึกพิมพ์และหมึกประทับตรา ในปัจจุบันยังนำน้ำมันที่สกัดได้ไปใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาโรค เครื่องสำอาง ส่วนของเส้นใยจากลำต้นนำมาผลิตเป็นกระดาษสา นอกจากนี้ในภาคการเกษตรยังได้มีการนำมาปลูกเพื่อใช้ป้องกันแมลงต่างๆ ได้ด้วย

พันธุ์ละหุ่งทางการค้าที่นิยมปลูกกันนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ข้ามปี และพันธุ์ล้มลูก พันธุ์ข้ามปีจะมีลำต้นที่ที่สูงถึง 3 เมตร มักจะเป็นพันธุ์พื้นเมือง ยืนต้น มีกิ่งก้านสาขาจำนวนมาก มีอายุยาวได้ถึง 3 ปี โดยส่วนใหญ่จะให้ผลผลิตน้อยกว่าพันธุ์ล้มลุก แต่มีบางพันธุ์ เช่น พันธุ์ TCO 101 ที่ให้ผลผลิตได้ในปริมาณมาก ส่วนอายุการเก็บเกี่ยวของแต่ละพันธุ์จะแตกต่างกันบ้าง เช่น พันธุ์ต้นนวล สามารถเก็บเกี่ยวได้ราว 120 วัน พันธุ์ TCO 101 เก็บช่อแรกได้ในช่วง 140-150 วัน เป็นต้น โดยมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวช่อแรกเฉลี่ยประมาณ 110-150 วัน  ส่วนพันธุ์ล้มลุกนั้น จะเป็นพันธุ์ละหุ่งที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จากพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยจะมีจุดเด่นในด้านการให้ผลผลิตที่สูง และฝักไม่แตกง่าย ลำต้นสูงเพียง 2 เมตร และมีอายุการเก็บเกี่ยวช่อแรกราว 120-150 วัน

การปลูกละหุ่งในเชิงอุตสาหกรรมนั้นนิยมใช้พันธุ์ล้มลุกเพราะให้ผลผลิตสูง  โดยให้ทำการพลิกดินขึ้นมาตากฆ่าเชื้อและกำจัดวัชพืชและทำการไถพรวนให้ดินร่วนขึ้น ก่อนที่จะทำการปลูกด้วยการหยอดเมล็ดไปตามแนวร่องที่ได้ขุดรอไว้แล้วบนแปลงหลุมละ 2-3 เมล็ด เว้นระยะระหว่างและระหว่างต้นแถวราว 1-2 เมตร แล้วกลบดิน รดน้ำดูแลตามปกติ ใช้เวลาราว 112 สัปดาห์หลังปลูก ตรวจสอบความสมบูรณ์ของต้นกล้าที่งอกแต่ละหลุมทำการถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ออก เหลือเฉพาะต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์ที่สุดเพียงหลุมละ 1 ต้นเท่านั้น รอจนกระทั่งได้เวลาเก็บเกี่ยวประมาณ 4-5 เดือนหลังจากปลูกจึงทำการเก็บเกี่ยวและนำมาตากแดดแยกเมล็ดแล้วนำส่งโรงงานต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook