ต้นสารภีป่า ไม้ยืนต้นหลากชื่อที่ถูกขนานนามตามแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันไปแต่สรรพคุณและการใช้ประโยชน์ใกล้เคียงกัน ในภาคเหนือแต่ละท้องที่อาจจะเรียกกันว่า ต้นปันม้า ต้นส้านแดงหรือส้านใหญ่ ต้นสุน ตันฮัก ต้นสารภีดอย หรือต้นสารภีควาย ส่วนในภาคอีสานเรียกชื่อว่า ต้นบานมา ต้นทำซุง ต้นโมงนั่ง ต้นตองหนัง ต้นคำโซ่ หรือต้นพระราม ส่วนในแถบจังหวัดชุมพรเรียกว่า ต้นแก้มอ้น และในสุโขทัยเรียกต้นประดงข้อ เป็นต้น เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันตกและอินโดจีน ได้แก่ ประเทศอินเดีย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซียและไทย พบได้ในบริเวณที่เป็นป่าทึบที่มีหุบเขา และบริเวณป่าสนต่างๆ รวมไปถึงป่าเต็งรังและป่าดิบชื้นทั่วไปที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลราว 800-1,700 เมตร
แต่ละส่วนของต้นสารภีป่าถูกนำประโยชน์มาตั้งแต่โบราณ เช่น ลำต้นสามารถแปรรูปเป็นไม้เพื่อใช้ประกอบเป็นเครื่องเรือนต่างๆ ส่วนของดอกแรกผลิสามารถนำมาสกัดเอาสีแดงออกมาทำเป็นสีย้อมไหม นอกจากนี้ยังถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรพื้นบ้านตามตำรับยาแผนไทย เช่น ส่วนของดอก มีสรรพคุณในการช่วยลดอาการแน่นหน้าอก จุกเสียด บำรุงหัวใจ แก้หอบหืด แก้ไข้ เปลือกและดอกนำมาใช้ในการรักษาอาการบิดมวนในช่องท้องและยังสามารถนำมาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่นำแต่ละส่วนของต้นไม้ตามธรรมชาติมาใประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย
ต้นสารภีป่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดปานกลางค่อนข้างเล็ก ลำต้นสูงประมาณ 10-25เมตรตามความเอื้ออำนวยของสภาพแวดล้อม ลำต้นไม่ตรง เริ่มแตกกิ่งก้านสาขาตั้งแต่บริเวณกลางลำต้น ผิวเปลือกไม้แตกบ้างแต่มีผิวเรียบสีเทาครีม ด้านในของเปลือกไม้มีสีน้ำตาลแดง แตกใบเป็นใบเดี่ยว ปลายใบแหลม ขอบใบขนานและเรียบ ไม่มีหยัก ใบมีสีเขียวแก่ มัน เงา มีความหนาและเหนียว ผลิดอกออกเป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่งและง่ามใบ ดอกจะมีสีเหลืองปนชมพูแดง มักออกดอกในช่วงฤดูหนาว ดอกจะไม่ตั้งตรงแต่กลับโน้มลงพื้นเล็กน้อย ส่วนผลของต้นสารภีป่านั้นจะมีลักษณะกลมคล้ายผลชมพู่แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก โดยมีขนาดราว 2-5 เซนติเมตร ผลจะมีกลีบเลี้ยงที่แข็งมีสีแดงสด หรือแดงปนแสดหุ้มผลไว้จนมองไม่เห็นตัวผล เมื่อผลแก่ได้ที่แล้วกลีบเลี้ยงจะค่อยๆ แตกออก ทำให้มองเห็นผลภายในที่มีสีแสด และมีเนื้อสีแดง ด้านในผลมีเมล็ดลักษณะรียาวอยู่ภายในหลายเมล็ด โดยแต่ละเมล็ดจะมีเยื่อสีแดงหุ้มอยู่ สามารถนำไปเพาะขยายพันธุ์ต่อได้