สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปอสา แหล่งที่มาของกระดาษสาสุดคลาสสิค

ปอสา หรือ ปอกะสา เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับต้นหม่อน มีถิ่นกำเนิดจากแถบประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลี แพร่กระจายพันธุ์มายังเมียนมาร์และไทยขึ้นอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ตามธรรมชาติโดยเฉพาะที่ลุ่มริมแหล่งน้ำและภูเขาที่ชื้น เปลือกของลำต้นให้เส้นใยที่มีคุณภาพสูงเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ ทำให้กระดาษที่ได้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานไม่กรอบ ไม่ขาดยุ่ย สีของกระดาษไม่เปลี่ยนง่ายและตัวอักษรที่พิมพ์บนกระดาษติดทนนาน นอกจากนี้ยังได้นำมาผลิตกระดาษสาแบบ Hand Made เพื่อนำมาใช้ประดิษฐ์เป็นของใช้ประดับครัวเรือน เช่น นำมาทำเป็นโคมไฟ ว่าว การ์ดอวยพร และร่มที่มีชื่อเสียงโด่งดัง กลายเป็นของฝากจากเมืองไทยแก่ชาวต่างชาติทั่วโลก

ปอสาเป็นพืชยืนต้นที่มีขนาดปานกลาง เปลือกของลำต้นมีสีน้ำตาลแก่ ผิวเปลือกเรียบ มียางสีขาวระหว่างเปลือกกับเนื้อไม้คล้ายต้นขนุน ระบบรากแก้วแผ่กระจายทั่ว นำไปขยายพันธุ์ได้ ใบมีรูปทรงผสมกัน คือมีทั้งใบแบบแฉกปละใบคล้ายใบโพธิ์อยู่ในต้นเดียวกัน ใบจะมีสีเขียวเข้ม มีขนบางๆ บนแผ่นใบ ท้องใบสีเขียวอมเทาอ่อน ก้านใบและหูใบยาว ดอกแยกเพศคนละต้น จะเริ่มออกดอกเมื่อปลูกได้ราว 1 ปี ช่วงเวลาออกดอกไม่แน่นอนขึ้นกับสภาพแวดล้อมของแหล่งปลูก เมล็ดปอสาจะมีสีน้ำตาลออกแดง

การขยายพันธุ์ปอสา สามารถทำได้ด้วยการเพาะเมล็ด ชำไหล หรือปักชำ เจริญได้ดีในดินร่วนที่มีอินทรียวัตถุสูง สภาพแวดล้อมที่มีความชื้นในอากาศสูงจะเอื้อให้พืชเจริญเติบโตดีและมีใบขนาดใหญ่ สำหรับการเตรียมดินควรทำการไถพลิกดินขึ้นมาตากฆ่าเชื้อโรคและกำจัดหญ้าวัชพืชราว 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะไถแปรให้ดินร่วนและละเอียดขึ้น แล้วทำการย้ายต้นกล้าพันธุ์ลงปลูก โดยส่วนใหญ่นิยมปลูกในช่วงฤดูฝนเพราะมีความชุ่มชื้นในดินมาก ระยะการปลูกสามารถเว้นระยะได้ระหว่าง 1.5 เมตร – 3 เมตร ขึ้นอยู่กับสภาพดิน ส่วนศัตรูพืชของปอสาตามธรรมชาติ คือหนอนเจาะลำต้น และเพลี้ยอ่อน แต่ไม่พบการทำลายที่มากนัก ส่วนวัชพืชนั้นหากมีการกำจัดในช่วงก่อนปลูกและเริ่มปลูก เพราะเมื่อต้นปอสาเจริญแล้ว ใบจะมีขนาดใหญ่คลุมวัชพืชได้

สำหรับการเก็บเกี่ยวนั้น จะตัดต้นปอสาทั้งต้น โดยตัดที่ลำต้นบริเวณที่เหนือโคนขึ้นมาประมาณ 1 ฟุต เพื่อนำไปลอกเปลือก ซึ่งสามารถทำได้ทั้งลอกเปลือกสด ลอกเปลือกด้วยการต้ม และลอกเปลือกด้วยการเผา นอกจากนี้หากเป็นต้นปอสาขนาดใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 10 ปีที่เราไม่ต้องการตัดลำต้นก็สามารถลอกเปลือกจากต้นได้เช่นกัน

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook