คำว่าเกษตรกรรมเป็นคำที่เรารู้จักมักคุ้นกันมายาวนาน แต่หลายคนอาจจะไม่เคยเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานดูความหมายตรงๆ กัน เพราะส่วนใหญ่เราทุกคนต่างเข้าใจกันดีว่า คำนี้เกี่ยวข้องกับ การเพาะปลูก ปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้ แต่หากลองเปิดดูความหมายที่ระบุตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจะพบว่า หมายถึง “การใช้ประโยชน์จากที่ดิน เช่นการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ การป่าไม้ รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ และการประมงด้วย ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า agriculture”
ส่วนอีกคำที่ใกล้เคียงกันกับคำว่า เกษตรกรรม คือ กสิกรรม นั้นหลายคนอาจจะใช้ปะปนกันไป แต่อันที่จริงแล้วนั้น คำว่า กสิกรรม จากพจนานุกรม ระบุว่า หมายถึง “การทำไร่ไถนา ใช้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า farming “ ซึ่งไม่รวมถึงการประมง ปศุสัตว์และป่าไม้ แต่อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่เมื่อเรากล่าวคำนี้ออกไป คนฟังก็พอจะนึกออกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเกษตรกรรม
เมื่อลองนำคำว่าเกษตรกรรมไปค้นหาใน Wikipedia ก็จะพบความแตกต่างเล็กน้อยในการนิยามคำนี้ เพราะในเว็บไซต์ ระบุว่า เป็นการเพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเพื่อการบริโภคเป็นอาหารและยา สิ่งทอ และพลังงานเชื้อเพลิง
เกษตรกรรมเป็นกิจกรรมที่อยู่คู่คนทั้งโลกมายาวนาน เพราะเป็นกิจกรรมในการผลิตอาหารและปัจจัยสี่ เป็นกิจกรรมที่ต้องพึ่งพิงสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้แต่ละประเทศมีการพัฒนาที่แตกต่างกันไปตามภูมิอากาศและภูมิประเทศ จนทำให้เกิดเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรขึ้นมากมาย เริ่มตั้งแต่การชลประทาน ที่แต่เดิมจะใช้แหล่งน้ำตามธรรมชาติ แต่หลายประเทศที่แห้งแล้งได้พัฒนาระบบการกักเก็บน้ำที่มีศักยภาพขึ้น จนเกิดระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพแล้วเผยแพร่องค์ความรู้ไปยังประเทศต่าง ๆ จากที่เคยปลูกพืชในแปลงปลูกขนาดเล็ก เมื่อมีระบบการค้าขายเกิดขึ้น จึงมีการพัฒนาเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแปลงใหญ่เพื่อการค้า ทำให้เกิดการปรับปรุงพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพให้แก่ผลผลิต
เกษตรกรรมสมัยใหม่ในปัจจุบัน หันมาใช้เทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องตรวจวัดคุณภาพเมล็ดพันธุ์ อุปกรณ์เพิ่มผลผลิตอย่างเครื่องฟักไข่ไก่ อุปกรณ์วัดความสุกแก่ของผลไม้ เครื่องตรวจวัดคุณภาพดิน ซึ่งช่วยให้การประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมมีความสะดวกขึ้นและได้ผลผลิตมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นนั้นยังคงต้องการความใส่ใจจากเกษตรกรที่มีต่อผลผลิตเป็นสำคัญ เกษตรกรจึงควรใช้เทคโนโลยีต่างๆ ควบคู่ไปกับการดูแลอย่างใกล้ชิด การลงตรวจพืชผลเป็นประจำเพื่อสำรวจแมลงและโรคพืชด้วยตนเอง จะช่วยให้เราได้ระงับและป้องกันคามเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบได้ในทันที ดังนั้นหัวใจหลักของเกษตรกรรม คือ เกษตรกร ผู้ฟูมฟักดูแลในทุกกระบวนการอย่างใกล้ชิดจนส่งผ่านผลผลิตมายังผู้บริโภค
อ้างอิง : http://legacy.orst.go.th/