รัฐบาลได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและเป็นที่ต้องการของตลาดสูงเพื่อทดแทนการทำนาปรัง ซึ่งถั่วลิสงเป็นพืชหนึ่งที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสม จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยต้องการใช้ถั่วลิสงสูงถึง 126,178 ตัน แต่ผลิตได้เพียง 31,097 ตัน ทำให้ไทยต้องนำเข้าถั่วลิสงถึง 64,494 ตัน มูลค่ารวมกว่า 2,053.66 ล้านบาท พื้นที่เพาะปลูกถั่วลิสงส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2562/63 มีพื้นที่ปลูกถั่วลิสงลดลง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตของประเทศลดลง ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ยังต่ำกว่าประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ วิธีหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้คือการปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงที่ให้ผลผลิตมากขึ้นและมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแปลงปลูกแต่ละพื้นที่ได้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงด้านต่างๆ เช่น การควบคุมวัชพืช การจัดการน้ำและธาตุอาหารพืชอย่างมีประสิทธิภาพ
รัฐบาลได้พัฒนาถั่วลิสงหลายชนิดให้เกษตรกรปลูก พันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุดในภาคเหนือ คือ ไทนาน 9 ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ในรูปของฝักแห้ง นำพันธุ์เข้ามาจากไต้หวันในปี พ.ศ. 2515 และได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตสูง มีเปอร์เซ็นต์กะเทาะสูง เปลือกบาง และปรับตัว เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี อย่างไรก็ตาม พันธุ์ไทนาน 9 ไม่ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูถั่วลิสงหลายชนิด ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องใส่ใจดูแลอย่างดีเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผลผลิตต่ำ นอกจากนี้ หากเกษตรกรปลูกถั่วลิสงเพียงพันธุ์เดียวในพื้นที่อาจมีความเสี่ยงต่อการระบาดของศัตรูพืชซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตในวงกว้างได้
ภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสง เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพเมล็ดถั่วลิสงเพื่อให้อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารถั่วลิสงยอมรับ โดยการคัดเลือกเชื้อพันธุกรรมถั่วลิสงจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่มีความทนทานต่อโรคและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี นำมาใช้เป็นพันธุ์พ่อแม่เพื่อผสมพันธุ์ แล้วจึงคัดเลือกและประเมินผลผลิตจนได้สายพันธุ์ดีเด่นที่ให้ผลผลิตสูงจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเลือกพันธุ์ที่จะใช้ สิ่งสำคัญ คือ การทดสอบผลผลิตในระดับไร่นาเกษตรกรพื้นที่เป้าหมายในหลายพื้นที่ปลูกและหลายฤดูปลูก วิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพันธุ์กับสภาพแวดล้อมและเสถียรภาพการให้ผลผลิตของพันธุ์ได้ ซึ่งจะช่วยให้การพิจารณาคัดเลือกพันธุ์นั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สวก. จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยเพื่อดำเนินโครงการ “การพัฒนาพันธุ์ถั่วลิสงและเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตสำหรับเขตภาคกลางและภาคเหนือของประเทศไทย” เพื่อคัดเลือกพันธุ์ถั่วลิสงที่ให้ผลผลิตสูง มีอายุเก็บเกี่ยวเหมาะสม มีลักษณะทางการเกษตรและ ลักษณะการใช้ประโยชน์ฝักแห้งเพื่อการบริโภคหรือแปรรูปที่ดีและปรับตัวได้ดีและเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงที่เหมาะสมกับฤดูกาล สภาพพื้นที่เพาะปลูกและการจัดการ ของเกษตรกรในท้องถิ่นต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงด้านพันธุ์สู่เกษตรกรผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการคัดเลือกสายพันธุ์ถั่วลิสงโดยเกษตรกรจากแต่ละพื้นที่ และการจัดทำแปลงสาธิตซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรและทีมวิจัยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนักวิจัยยังสามารถแนะนำแนวปฏิบัติที่ถูกต้องในการผลิตถั่วลิสงให้กับเกษตรกรได้โดยตรง เป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกใช้พันธุ์ดีเป็นพันธุ์ปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตปริมาณสูงและมีคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เพื่อให้การปลูกถั่วลิสงทดแทนการทำนาปรังสร้างรายได้ที่มากขึ้นให้แก่เกษตรกร