มะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชเศรษฐกิจที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นอันดับต้นๆ และจัดเป็นไม้ผลที่มีการส่งออกใน ปริมาณสูงและมีแนวโน้มความต้องการของตลาดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามะพร้าวอ่อนของไทยมีคุณภาพดีและมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากประเทศอื่นโดยเฉพาะในเรื่องของความหอม จนขณะนี้มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมในเชิงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและกระจายไปทั่วประเทศ แม้ว่ามะพร้าวน้ำหอมจะสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี แต่มะพร้าวน้ำหอมกลับให้ผลผลิตไม่สม่ำเสมอตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ส่งผลให้ผลผลิตขาดตลาดทั้งที่มีความต้องการสูง
ที่ผ่านมาคณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับมะพร้าวน้ำหอมมาอย่างต่อเนื่องจนมีข้อมูลการให้ผลผลิตของมะพร้าวน้ำหอมในระดับหนึ่ง ซึ่งผลจากการศึกษาในอดีตสามารถสรุปได้ว่าปริมาณผลผลิตของมะพร้าวน้ำหอมขึ้นกับ 3 กระบวนการ คือ การสร้างจั่น สร้างดอกเพศเมีย และการติดผล ซึ่งหากมีการจัดการให้กระบวนการทั้ง 3 เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ จะสามารถทำให้มะพร้าวมีผลผลิตได้ในปริมาณและคุณภาพสม่ำเสมอได้ตลอดทั้งปี หรือสามารถกำหนดช่วงเวลาที่ต้องการให้มีผลผลิตมากได้
สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในโครงการ “การจัดการสวนมะพร้าวน้ำหอมเพื่อให้ได้ผลผลิตสม่ำเสมอตลอดทั้งปี” โดยมี รศ.ดร.เกียรติสุดา เหลืองวิลัย เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อทำการศึกษาพัฒนาวิธีการจัดการสวนมะพร้าวน้ำหอมแบบบูรณาการให้ได้ผลผลิตและคุณภาพสม่ำเสมอตลอดทั้งปี และสามารถพยากรณ์ผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมล่วงหน้า 3-18 เดือน เพื่อการปรับตัวของเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของมะพร้าวน้ำหอมให้เหมาะสมกับสถานการณ์การผลิต
ผลสำเร็จของงานวิจัยนี้ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมมีวิธีการในการเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่มักมีผลผลิตปริมาณน้อยแต่มีราคาสูง ทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น ขณะเดียวกันเกษตรกรยังได้รับองค์ความรู้และสามารถปรับการออกดอกและติดผลของมะพร้าวน้ำหอมให้สอดคล้องกับการแปรปรวนของสภาพอากาศ และรักษาระดับปริมาณผลผลิตให้ได้ผลตอบแทนสูงตลอดทั้งปี และยังสามารถระบุปัจจัยทางสภาพอากาศที่ส่งผลต่อการออกดอกติดผลมะพร้าว เพื่อหาแนวทางป้องกันหรือแก้ปัญหาเรื่องปริมาณผลผลิตมะพร้าวที่ไม่ตรงตามเป้าให้แก่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องได้ ตลอดจนสามารถทำนายปริมาณผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมล่วงหน้าได้ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ซึ่งจะทำให้ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม และผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด สามารถเตรียมการรับมือกับการสั่งซื้อและวางแผนการจัดการทั้งหระบวนการได้อย่างเหมาะสม เป็นการยกระดับการผลิตมะพร้าวน้ำหอมซึ่งเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญเพื่อรองรับตลาดส่งออก สามารถนำเม็ดเงินมหาศาลเข้าประเทศได้และยังสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมอีกด้วย