สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวนุ่มดีสีนิล

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ บ้างก็เขียนว่า ข้าวไรซ์เบอร์รี ซึ่งภาษาอังกฤษจะเขียนว่า Riceberry เป็นข้าวไทยที่พัฒนาขึ้นโดยการนำข้าวหอมนิลมาผสมข้ามพันธุ์กับข้าวขาวดอกมะลิ 105 โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม ในปี 2545 จนได้พันธุ์ข้าวกล้องข้าวเจ้า เมื่อดิบมีสีม่วงอมแดงกล่ำ เมล็ดข้าวยาวเต็มเมล็ด รูปทรงยาวเรียว ผิวมีความวาว เมื่อหุงสุกแล้วสีของเมล็ดข้าวจะกลายเป็นสีนิลประกายม่วง มีความนุ่ม กลิ่นหอม รสชาติอร่อย จุดเด่นของข้าวชนิดนี้คือ เป็นข้าวสารที่ไม่ผ่านการสีเอารำและจมูกข้าวออก แต่กลับใช้เวลาในการหุงให้สุกไม่นานนัก โดยใช้เวลาทั่วไปเทียบเท่ากับการหุงข้าวขาวปกติ ทำให้ไม่เกิดความยุ่งยากและยังได้คุณค่าและโภชนาการสูง

ต้นข้าวไรซ์เบอร์รี่ จะมีความสูงระหว่าง 105-110 เซนติเมตร มีอัตรา % การขัดสีคิดเป็นร้อยละ 50 ให้ผลผลิตประมาณ 700-800 กิโลกัมต่อไร่ มายุการเก็บเกี่ยวผลผลิต 130 วัน Amylose content 15.6% ดัชนีน้ำตาลต่ำถึงปานกลาง แป้งสุกที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส

ต้นข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นพืชที่ต้องการความดูแลค่อนข้างสูง แม้จะมีความสามารถในการต้านทานโรคไหม้ แต่ไม่สามารถต้านทานโรคหลาวได้ ทำให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกจำเป็นต้องมีการเตรียมเมล็ดพันธุ์ใหม่ในทุกฤดูการปลูก ขณะเดียวกันพื้นที่เพาะปลูกต้องเป็นพื้นที่ที่มีภูมิอากาศที่เย็นเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ข้าวมีสีของเมล็ดที่เข้มเต็มที่

สีม่วงเข้มของเมล็ดข้าวไรซ์เบอรี่นั้น เกิดจากเม็ดสีตามธรรมชาติจากสารแอนโธไซยานิน ในรำข้าวไรซ์เบอรี่มีแอนโธไซยานินเข้มข้นถึง 15.37 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม มีค่า ORAC หรือ Oxygen Radical Absorbance  ถึง 400 Trolox eq./g เรียกได้ว่า มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ และปัจจุบันยังมีการศึกษาวิจัยกันอย่างต่อเนื่อง ในการทดสอบคุณสมบัติของสารสกัดจากรำข้าวไรซ์เบอร์รี่ในการต่อต้านเซลล์มะเร็งบางชนิด ขณะเดียวกันยังมีฟลาโวนอยด์ที่มักพบร่วมกับอาหารที่มีแอนโธไซยานินสูงที่เป็นปัจจัยในการเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระด้วย

สำหรับวิธีการหุงข้าวไรซ์เบอรี่ แม้ว่าจะมีขั้นตอนที่แทบจะไม่แตกต่างจากการหุงข้าวขาวทั่วไป แต่เราไม่จำเป็นต้องล้างข้าวหรือซาวข้าว แต่ใครจะล้างก็ตามสะดวกกันได้เลย แค่เพียงเราตักข้าวลงไปในหม้อหุงข้าวแล้วเติมน้ำลงไปตามสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งเรามักจะเติมน้ำมากกว่าการหุงข้าวขาวเล็กน้อยเพื่อให้ข้าวนุ่ม หรือในสัดส่วนข้าว 1 ส่วน ต่อน้ำ 1.5 ส่วน ปิดฝาหม้อหุงข้าว ให้พักข้าวให้ระอุในหม้อราว 10 นาที แล้วจึงคนข้าวให้ทั่ว ก่อนที่จำตักเสิร์ฟพร้อมรับประทาน กับเมนูรสเด็ดอื่นๆ อิ่มท้อง อร่อยปาก ได้คุณค่าทางโภชนาการสูง สมความเป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook