สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

กระรอก ตัวป่วน กวนผลผลิต

กระรอก สัตว์ตัวเล็กเลี้ยงลูกด้วยนม เคลื่อนไหวรวดเร็ว มีความคล่องตัวสูง มีขนปุยนุ่มคลุมทั้งตัว ดวงตาดำขลับกลมมน หางมีขนฟูปุย เป็นสัตว์ที่คนไทยเราสามารถพบได้โดยทั่วไป ในบริเวณป่าละเมาะหรือแม้กระทั่งในสวนสาธารณะที่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมอยู่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรือกสวนไร่นาต่างๆ ที่มักพบกระรอกสวนจอมแทะ ที่นอกจากจะทำหน้าที่เป็นผู้ปราบด้วงแรดที่เป็นแมลงศัตรูมะพร้าวแล้ว ยังเข้ามาแทะกินใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้และเมล็ดธัญพืชของเราจนเกิดความเสียหายกันไม่น้อย จนกลายเป็นสัตว์ศัตรูพืชตัวฉกาจในการทำลายผลผลิตของเรา

เพื่อนๆ เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวต่างหาวิธีการมากำจัดกระรอกสวนหรือกระรอกข้างลายท้องแดง ทั้งใช้กับดักลอบจับ ใช้หนังสติ๊กยิง ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อกระรอก หรือตัดทางเดินของกระรอกด้วยการพันรอบคอมะพร้าวด้วยสังกะสี ทำให้กระรอกไม่สามารถเดินไปใกล้กับมะพร้าวได้  ส่วนสวนทุเรียนต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกระรอกบิน ก็หาแนวทางในการไล่กระรอกต่างๆ กันไป เช่น นำแผ่นซีดีมาผูกไว้ตามกิ่งทุเรียนหลายๆ แผ่น เมื่อลมพัดจะทำให้แผ่นซีดีแกว่งสะท้อนแสงไล่กระรอก หรือใช้อุปกรณ์ที่มีเสียงเช่นโลหะมาแขวนไว้ เมื่อลมพัดทำให้โลหะกระทบกันเกิดเสียง ทำให้กระรอกตกใจและวิ่งหนีไป

อย่างไรก็ตามกระรอกนับว่าเป็นสัตว์ป่าที่มีประชากรน้อยลงทุกวัน ทั้งที่เรากำจัดโดยวิธีการที่รุนแรง และยังมีการจับกระรอกไปกินกันอีกด้วย ทำให้อาจเกิดผลเสียต่อระบบนิเวศวิทยา จนทำให้มีประกาศคุ้มครองและสงวนกระรอกบางชนิด เพื่อไม่ให้มนุษย์เราจับมาค้าขายทางการค้า เป็นการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์หายากให้อยู่คู่โลกใบนี้ต่อไป ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ เกษตร มาช่วยกันกำจัดกระรอกออกจากสวนโดยไม่ใช้ความรุนแรงกัน เช่น การปลูกต้นกล้วยไว้รอบๆ สวน เพื่อล่อกระรอกให้ไปแทะกินต้นกล้วยแทนผลผลิตของเรา หรือใช้ถุงกระดาษห่อผลผลิตไว้ และยังมีวิธีการที่นำน้ำหมักบอระเพ็ดมาพ่นใส่ผลไม้ของเรา เพื่อกันไม่ให้กระรอกมากัดกินได้

วิธีการทำน้ำหมักจากบอระเพ็ดนั้นไม่ยากครับ แค่นำเถาบอระเพ็ดประมาณ 10 กิโลกรัม มาสับเป็นชิ้นๆ ใส่ลงไปในถังบรรจุน้ำเปล่า 100 ลิตร หมักไว้ 30 วัน แล้วนำมากรองเอาเถาบอระเพ็ดออกทิ้ง แล้วเก็บไว้เฉพาะน้ำหมักบอระเพ็ด เมื่อจะใช้ฉีดพ่น ให้ผสมน้ำหมัก 1 ลิตรต่อน้ำ 100 ลิตร ผสมสารจับใบ แล้วนำไปผลใส่ผลผลิตทุก 5 วัน จนกว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งวิธีการนี้จะไม่ทำให้กระรอกเป็นอันตราย และยังป้องกันผลไม้เราไม่ให้โดนกัดกินอีกด้วย เรียกได้ว่าอนุรักษ์สัตว์และปกป้องผลผลิตได้ในคราวเดียวกันครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook