สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

กล้วยไม้ตัดดอก ไม้ดอกเศรษฐกิจของไทย

กล้วยไม้ตัดดอก เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตไม้ดอกที่สร้างรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศไทย แม้ว่าในอดีตนั้นการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้จะถูกจัดให้เป็นไม้เฉพาะสำหรับแฟนตัวยงที่มีความสนใจในดอกกล้วยไม้สวยงาม กล้วยไม้ธรรมชาติ ที่มักจะพบได้มากกว่าพันชนิด เป็นกล้วยไม้ที่อาศัยบนต้นไม้ใหญ่ บนพื้นดิน จนพัฒนานำมาปลูกเพาะเลี้ยงกันเองโดยจัดสภาพแวดล้อมที่เลียนแบบป่า จนเริ่มเกิดการส่งเสริมการปลูกกล้วยไม้ในราวปี พุทธศักราช 2500 และเกิดการพัฒนาวิจัย มีการนำพันธุ์กล้วยไม้จำนวนมากจากประเทศต่างๆ เข้ามาปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์ จนเกิดการทำฟาร์มกล้วยไม้ตัดดอกเพื่อส่งออกไปยังประเทศเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ และ อิตาลี เป็นประเทศแรกๆ ก่อนที่จะขยายไปสู่ตลาดอื่นๆ จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยกล้วยไม้ตัดดอกที่ไทยเราผลิตในช่วงแรกนั้นจะเป็นพันธุ์ปอมปาดัวร์

กล้วยไม้ตัดดอก ไม้ดอกเศรษฐกิจของไทย

กล้วยไม้ตัดดอกที่นิยมปลูกเพื่อตัดดอกเชิงพาณิชย์นั้นมีด้วยกันหลายสกุล โดยสกุลหวายจะเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด เป็นกล้วยไม้ที่มีหลากหลายสายพันธุ์ ดอกงดงาม และมีสีสันให้เลือกมากมาย ระบบรากจะเป็นรากกึ่งอากาศ ต้องหมั่นตัดแยกเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ต้นพืชมีความสมบูรณ์ ให้ดอกที่สวย นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้สกุลแคทลียา ที่มักจะพบเห็นได้ในภาคเหนือและภาคอีสานแต่ไม่นิยมผลิตเพื่อการส่งออก และยังมีสกุล ซิมบิเดียม ออนซิเดียม แวนด้า ฯลฯ ที่เป็นตัวเลือกในการปลูก

การปลูกกล้วยไม้เพื่อตัดดอก นอกจากเรื่องปัจจัยในการปลูกแล้ว เรื่องของการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บเกี่ยวมีความสำคัญอย่างมาก เพราะในหนึ่งช่อจะมีดอกที่มีขนาดแตกต่างกัน มีความบานต่างกัน และยังมีอายุก่อนการหลุดร่วงต่างกัน ทั้งนี้เกษตรกรผู้ผลิตต้องเข้าใจความต้องการของคู่ค้าแต่ละแห่งให้ชัดเจน ส่วนเวลาการตัดดอกนั้นจะตัดกันในตอนเช้าที่มีอากาศเย็นกว่าเวลาอื่นๆ ของวัน ทำให้ดอกไม้รักษาน้ำไว้ได้ดี ทำให้สภาพดอกสด ก่อนที่จะนำไปคัดขนาดหรือคัดเกรด หลังจากที่ได้กล้วยไม้สำหรับที่จะส่งออก ให้ทำการบรรจุลงในหีบห่ออย่างรวดเร็วและระมัดระวังอย่างมาก เพื่อป้องกันการเสียหายต่อกล้วยไม้

แม้ว่ากล้วยไม้ตัดดอกจะเป็นพืชที่มีศักยภาพการเติบโตสูง แต่ก็มีข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ ให้ปฏิบัติตามทั้งจากระเบียบภายในประเทศและเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า ดังนั้นเกษตรกรมีความสนใจที่จะผลิตดอกไม้เศรษฐกิจชนิดนี้ จำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงเงื่อนไขต่างๆ ให้ถ่องแท้ โดยเฉพาะเรื่องของการป้องกันและตรวสอบศัตรูพืชที่อาจจะปนเปื้อนไปกับดอก ซึ่งประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่มีมาตรการที่นำเข้าที่เข้มงวดกับเรื่องดังกล่าวมาก ซึ่งหากมีการปนเปื้อนจะส่งผลต่อการส่งออก ส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ส่งออกและเกษตรกรผู้ปลูกอีกด้วย แต่หากมั่นใจในกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพสินค้า ตลาดต่างประเทศยังมีโอกาสรออยู่

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook