สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

สมุนไพรไทย เทรนด์ไกลตลาดนอก

คำว่าสมุนไพรที่เรามักคุ้นหู ชินตากันมาช้านาน รับประทานกันจนแทบจะจดจำชื่อและลักษณะแทบจะไม่ไหว มีประโยชน์ทั้งในแง่สรรพคุณทางยา เป็นเครื่องเทศชูรส เพิ่มสีให้แก่อาหารหลายชนิด และยังให้ความเอร็ดอร่อยหากมีการนำไปเข้าคู่รับประทานกับอาหารอย่างเหมาะสม สมกับประโยคที่ว่า รับประทานอาหารแทนยา เพราะแทบทุกเมนูอาหารไทยต้องมีพืชผักสมุนไพรมาเป็นส่วนประกอบ เพราะหาง่าย ปลูกง่าย บ้างก็ขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ในบทความนี้เราจะมาชวนอ่านเรื่องโอกาสของตลาดสมุนไพรไทย ที่ไม่ได้มีไว้รับประทานหรือใช้เป็นยากันแค่เพียงในประเทศหรือเป็นผักบ้านๆ อย่างที่เราคุ้นเคย พืชผักหลายชนิดได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ โดยสมุนไพรเรานั้นมีการส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศกลุ่มเอเชียอาคเนย์ มีมูลค่าการส่งออกรวมมหาศาล มีตลาดหลักอยู่ที่ จีน ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

สมุนไพรไทย เทรนด์ไกลตลาดนอก

ตลาดสมุนไพรไทยเรากำลังเติบโตไปตามกระแสของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ โดยผู้ริโภคจำนวนมากหันมาบริโภคอาหารเสริมที่ผลิตจากพืชและสมุนไพรมากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการวัตถุดิบสมุนไพรเพื่อนำไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารเสริมและยาสมุนไพรมากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐยังได้มีการส่งเสริมเกษตรกรและวิสาหกิจในการผลิตพืชสมุนไพรเพื่อรองรับตลาดที่โตขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกสมุนไพรไทยแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิต ทำให้คู่ค้าต่างชาติให้การยอมรับมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังขายได้ราคาสูงขึ้น

สมุนไพรไทยที่จัดเป็นสมุนไพรเศรษฐกิจสำคัญและได้รับความนิยมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จะมีตัวเด่น คือ ขมิ้นชัน ไพล  กระชายดำ บัวบก ฟ้าทะลายโจร ขิง กระเทียม ที่นิยมส่งออกเป็นพืชสมุนไพร นอกจากนี้ยังมีการส่งออกในลักษณะของสารสกัดจากสมุนไพร ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงทั้งสิ้น ปัจจุบันเราจะเห็นว่า ขมิ้นชัน เป็นสมุนไพรที่เป็นที่รู้จักของชาวต่างประเทศ ตลาดสำคัญของขมิ้นชันไทย ได้แก่ อินเดีย สหรัฐอเมริกาและเนเธอร์แลนด์

สิ่งสำคัญสำหรับเกษตรกรในการผลิตพืชสมุนไพรไทยเพื่อการส่งออกนั้น นอกจากการผลิตสมุนไพรตามวิถีเกษตรอินทรีย์  และการได้รับการรับรองการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ Good Agriculture Practices (GAP)แล้ว จะต้องพิจารณาถึงความเสถียรของสารสำคัญที่ตลาดต้องการ ยกตัวอย่างเช่น หากปลูกขมิ้นชัน ก็ต้องพิจารณาถึงปริมารสารเคอร์คูมินอยด์ให้มีปริมาณตามที่ตลาดคู่ค้าต้องการ ซึ่งอาจจะต้องมีการพัฒนาพันธุ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตอบโจทย์คู่ค้าได้ นอกจากนี้ควรมีการพัฒนากระบวนการแปรรูปสมุนไพร เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้มีราคาสูงขึ้น รวมทั้งมีกระบวนการที่สามารถรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้คงสภาพได้ยาวนาน โดยไม่มีผลกระทบต่อรสชาติ กลิ่น สี และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดให้สมุนไพรเติบโตก้าวไกล และเกษตรกรเกิดคามมั่นคงในอาชีพต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook