สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เห็ดถอบ เห็ดป่า อนาคตดี

เมื่อก่อนเห็ดถอบอาจจะไม่เห็ดที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันมากนัก จะเป็นที่รู้จักกันเฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น เพราะเป็นเห็ดตามฤดูกาลที่กว่าจะได้เห็ดมาต้องเข้าป่าไปเก็บไปหามาด้วยความท้าทาย เข้าป่าเร็วไปก็ยังไม่มีเห็ด เข้าไปช้ามาก เห็ดอาจจะแก่และอาจจะหมดไปแล้ว กว่าจะได้เห็ดถอบดีๆ ต้องถูกช่วงถูกเวลา และยิ่งหายากยิ่งต้องเก็บไว้ให้คนในครอบครัวและคนใกล้ชิดรับประทานก่อนที่จะนำไปขาย แต่ในยุคนี้การขนส่งว่องไว และมีกระบวนการถนอมอาหารที่ใช้ต้นทุนไม่มาก ทำให้เห็ดถอบถูกกระจายเข้ามาขายในจังหวัดต่างๆ มากขึ้นกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเป็นที่นิยมรับประทานมากขึ้น เกิดโอกาสทางธุรกิจเกิดขึ้น ทำให้เห็ดชนิดนี้มีไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค จนเกิดการวิจัยและพัฒนาการปลูกเห็ดป่าไมคอร์ไรซ่าแบบนี้จนสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องเข้าไปหาในป่า กลายเป็นเห้ดเศรษฐกิจพื้นเมืองที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกอย่างดี

เห็ดถอบ เห็ดป่า อนาคตดี

เห็ดถอบเป็นเห็ดรับประทานได้ที่มีเนื้อสัมผัสน่ารับประทานมาก มีความกรอบและเหนียวเมื่อนำไปลวกหรือรับประทานสดทั้งดอก จะรู้สึกได้ถึงความกรอบอย่างชัดเจน เมื่อกัดกินเห็ดโดยไม่ผ่า สามารถนำมาประกอบเป็นอาหารได้หลายอย่างเหมือนเห็ดอื่นๆ ที่จำหน่ายในท้องตลาด แต่ส่วนใหญ่นิยมนำมาผัดใส่กุ้ง ไก่ หมู นำมาต้มในน้ำเดือดรับประทานกับน้ำพริก ทำแกงคั่ว และแกงผักแบบบ้านๆ

ดังที่ได้เกริ่นไปแล้วว่า เห็ดถอบ เป็นเห็ดป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยจะพบได้มากในป่าเต็งรังที่เป็นป่าโปร่ง หากจะเข้าไปหาเห็ดชนิดนี้ให้มองไปที่โคนต้นยางนา ต้นเหียง ต้นยูคาลิปตัส หรือไม้วงศ์ยางต่างๆ ในช่วงต้นฤดูฝนก็จะมีโอกาสได้เห็ดติดไม้ติดมือออกมา โดยเฉพาะในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์จะพบได้ในปริมาณมาก สำหรับการเก็บเห็ดถอบในป่าธรรมชาตินั้น สำหรับนักเก็บเห็ดมืออาชีพจะมีอุปกรณ์ที่มีด้ามยาวประมาณ 50 เซนติเมตรและติดตะขอไว้ที่ปลายไม้ ใช้สำหรับเก็บเห็ดโดยเฉพาะ แต่สำหรับมือสมัครเล่น อาจต้องหากิ่งไม้ที่ปลายงอเข้าคล้ายตะขอมาใช้แทน เมื่อพบเห็นตามโคนต้นไม้หรือตอไม้จะต้องนำตะขอขูดดินโดยรอบบริเวณที่มีเห็ดขึ้นเป็นกลุ่มโดยไม่ให้ตะขอโดนเห็ดถอบ เพราะจะทำให้เสียหายและไม่ได้ราคา หลังจากเก็บเห็ดขึ้นมาต้องนำมาใส่ภาชนะธรรมชาติเพื่อรักษาความสดใหม่ของเห็ดไว้ ส่วนใหญ่จะใช้ใบไม้จากต้นยางหรือต้นพลวงมาทำเป็นกรวย เมื่อบรรจุเห็ดลงไปแล้วให้ปิดโดยใช้ไม้กลัดไว้กันลมและแสงสัมผัสเห็ดเพื่อให้ผิวชั้นนอกของเห็ดคงความกรอบไว้ได้นานขึ้น ก่อนที่จะนำส่งจำหน่ายในตลาดต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook