สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การคัดเลือก และปรับปรุงพันธุ์ฟักทองแฟนซีสำหรับการผลิตในประเทศไทย

ฟักทองแฟนซีจัดเป็นพืชวงศ์แตง กลุ่มฟักประดับ ไม่นิยมนำมาบริโภคเนื่องจากรสชาติไม่ดี อย่างไรก็ตามได้นำมาใช้ประโยชน์เชิงความเชื่อและศาสนา โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน สารทจีน และการวางบูชาทั่วไป เพราะชาวจีนมีความเชื่อว่าฟักทองเป็นพืชมงคล จึงนิยมใช้ฟักทองเป็นเครื่องหมายของความมั่นคงและความมั่งคั่งสมบูรณ์ ฟักทองแฟนซีจึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งของการไหว้เจ้า โดยฟักทองแฟนซีที่นิยมที่สุด คือ สีเหลืองและสีขาวที่มีรูปทรงคล้ายถุง ตามความเชื่อว่าคล้ายดั่งถุงเงินถุงทอง

พื้นที่ของอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งผลิตฟักทองแฟนซีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชาวบ้านได้รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิกจำนวนกว่า 50 ครอบครัว ยึดอาชีพปลูกฟักทองแฟนซี เพราะสภาพพื้นที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ดินในพื้นที่เป็นดินร่วนปนทราย ภูมิอากาศไม่หนาวและไม่ร้อนจนเกินไป ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของผลผลิตชนิดนี้ ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ทั้งหมดเกือบ 200 ไร่  ฟักทองแฟนซีเป็นพืชที่ปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในระยะเวลาไม่นาน โดยใช้เวลาหลังเพาะปลูก 60 วันก็สามารถเก็บผลผลิตได้  สร้างรายได้ให้ชาวบ้านใน อ.ดอยหล่อ ปีละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท  โดยในแต่ละปี มีผลผลิตมากกว่า 3,000,000 ลูก ที่ส่งขายไปยังตลาดในเขตภาคเหนือโดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ และส่งขายไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ ตลอดจนส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น กัมพูชา เวียดนาม ลาว และจีน (นิวส์มีเดีย, 2558)

เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ฟักทองแฟนซีมีราคาแพง เกษตรกรผู้ปลูกจึงเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองรุ่นต่อรุ่น แต่การปลูกของเกษตรกรจะปลูกทั้งสองพันธุ์ในเวลาเดียวกันและพื้นที่เดียวกัน ทำให้เกิดการผสมข้ามและมีการกระจายตัวของสีผิว ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของตลาด   ส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกและเป็นปัญหาต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มเกษตรกรจึงได้รวมตัวกันสะท้อนปัญหาผ่านทางสำนักงานเกษตรอำเภอดอยหล่อ โดยเข้ามาปรึกษานักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อช่วยในการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาด

ดังนั้น สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ฟักทองแฟนซีสำหรับการผลิตในประเทศไทย” โดยมี ศ.ดร.จุฑามาส คุ้มชัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ฟักทองแฟนซีที่มีสีผิวตรงตามความต้องการของตลาด ได้แก่ สีส้มและสีขาว เพื่อนำไปพันธุ์ที่ได้ไปส่งเสริมการผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว  นอกจากนี้ยังจัดการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตฟักทองแฟนซีภายใต้มาตรฐานการเกษตรที่ดีและเหมาะสม  ให้ได้ผลผลิตตรงตามมาตรฐานการผลิต และเรียนรู้วิธีการคัดเลือกและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม  ทำให้เกษตรกรและสมาชิกวิสาหกิจชุมชน สามารถสร้างรายได้และเกิดความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรอย่างยั่งยืน

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook