สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพรวนดิน

การเพาะปลูกพืชของเกษตรกรในปัจจุบันเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดีและทำให้สามารถขายผลผลิตได้ราคาดีนั้น นอกจากการคัดเลือกพันธุ์พืชที่สายพันธุ์ดีและหมั่นรดน้ำใส่ปุ๋ยดูแลแปลงผัก สวนไร่ ผลไม้แล้ว ขั้นตอนการเตรียมดินก่อนการเพาะปลูกพืชก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับพืชเพื่อให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี และป้องกันไม่ให้พืชถูกสิ่งแวดล้อมทำลายได้ง่ายอีกด้วย การเตรียมดิน การพรวนดินและการดูแลดินก่อนการเพาะปลูกพืชจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญเป็นอย่างมาก

โดยทั่วไปแล้วเราจะทำการพรวนดินก่อนการปลูกพืชผลต่างๆ เพื่อให้ดินร่วนซุยเหมาะแก่การเพาะปลูก ทำให้พืชที่ปลูกดูดซึมธาตุอาหารและน้ำได้ดีขึ้น แต่ในทางกลับกันการพรวนดินอาจทำลายสัตว์และสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในดินซึ่งเป็นตัวช่วยในการย่อยจุลินทรีย์อันเป็นสารอาหารของพืชได้ ดังนั้นการพรวนดินบ่อยๆ อาจเป็นการทำลายสภาพแวดล้อมรวมทั้งแหล่งอาหารของพืชได้นะครับ เพราะฉะนั้นแล้วหากดินมีสภาพดินที่ดีอยู่แล้ว เพื่อนๆ เกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องพรวนดินบ่อยเกินไป เพราะอาจไปทำลายสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในดินทำให้อาหารของพืชเสียสมดุลทางธรรมชาติได้ เนื่องจากไส้เดือนดินก็ทำหน้าที่พรวนดินในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว ทั้งยังช่วยย่อยจุลินทรีย์ให้เป็นอาหารของพืชอีกด้วย

การพรวนดินเพื่อเพาะปลูกพืชต่างๆ นั้นมีหลากหลายวิธี เพื่อนๆ เกษตรกรควรเลือกวิธีการพรวนดินให้เหมาะสมกับสภาพพื้นดินและลักษณะดินที่ปลูก โดยหลักๆ แล้วการพรวนดินจะมีทั้งหมด 4 วิธีด้วยกันครับ วิธีแรกคือการไถพรวนตามแนวระดับ วิธีนี้เหมาะกับสภาพดินที่อยู่ในพื้นที่ลาดเท เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าดินพังทลายลงมาจากการกัดเซาะของน้ำฝนหรือลมตามธรรมชาติ โดยพื้นที่ลาดเทที่เหมาะกับการพรวนดินตามระดับจะต้องมีความลาดเทไม่เกิน 8% และมีความยาวที่ลาดเทไม่เกิน 100 เมตร การวัดพื้นที่ความลาดเทสามารถใช้อุปกรณ์ในการวัดหรือ กะด้วยสายตาก็ได้ครับ แต่ไม่ควรที่จะคลาดเคลื่อนจากระดับจริงๆ 3% โดยวิธีพรวนดิน คือ ไถพรวนดินเป็นเส้นแถวขนานขวางกับทางลาดเท มีความลึกประมาณ 7-10 เซนติเมตร วิธีนี้จะเหมาะกับการปลูกพืชไร่และพืชล้มลุกต่างๆ ครับ

ส่วนวิธีที่สอง คือ ไถพรวนดินให้น้อยครั้ง คือ สามารถใช้เครื่องไถ่พรวนดินครั้งเดียวเพื่อเปิดหน้าดินและทำการหยอดหรือหว่านเมล็ดได้เลยครับ เพื่อลดการทำลายสัตว์และแร่ธาตุในดินที่เป็นประโยชน์กับพืช ทั้งยังช่วยไม่ให้ดินอัดแน่นแข็งจากการบดอัดของรถพรวนดินอีกด้วย วิธีต่อมา คือ การไถพรวนล่างดิน โดยสามารถใช้เครื่องไถพรวนที่ไถพรวนแค่ด้านล่างดินได้โดยที่ไม่ต้องพลิกดินขึ้นมา วิธีนี้จะเหมาะสำหรับดินที่ดูดซึมน้ำได้ไม่ดีเพราะผิวดินด้านล่างอัดแน่นแข็ง ส่วนวิธีที่ 4 คือ การไม่พรวนดินเลย วิธีนี้เหมาะกับการปลูกพืช ข้าวโพด อ้อย และถั่วต่างๆ เนื่องจากพืชดังกล่าวมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อดิน ทำให้ส่วนของพืชที่ร่วงหล่นลงดินช่วยปกคลุมดินไว้ จึงทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์และสามารถดูดซึมน้ำได้ดี ทั้งยังลดการกัดเซาะและการชะลอของน้ำที่ไหลบ่าได้อีกด้วยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook