สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

โฮย่าประกายแก้ว และ โฮย่าดาว

โฮย่าประกายแก้ว (Hoya pachyclada Kerr) และ โฮย่าดาว (Hoya coronaria Blume) พืชทั้งสองชนิดนี้เป็นพืชที่มีชื่อไม่ค่อยคุ้นหูนักสำหรับหลายคนแต่ให้ดอกที่มีลักษณะสวย เป็นเอกลักษณ์ มีกลิ่นหอม และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ตีนเป็ดและอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย

โฮย่าประกายแก้ว มีชื่อเรียกว่าสมุนไพรต้างใหญ่ และในแถบจังหวัดเลยจะเรียกว่า ต้าง ตำเดียวสั้นๆ ส่วนในแถบจังหวัดกาญจนบุรีจะเรียกว่า ป้าง หรือบางพื้นที่จะเรียกว่า ดอกตั้งหรือประกายแก้วก็มี โฮย่าชนิดนี้เป็นพืชประเภทไม้เถาขนาดเล็กที่มีลำต้นอวบน้ำ ใบหนา สามารถเจริญเติบโตได้ถึง 6 เมตร ใบมีสีเขียวเป็นมัน ผิวใบหนา ดอกคล้ายรูปดาว สีขาว ตรงกลางดอกเป็นสีชมพู ออกดอกเป็นกระจุกมากถึง 30 ดอก กลิ่นหอม เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศฟิลิปปินส์และไทย พบได้ในป่าเขตร้อนและบริเวณป่าหินและผาหิน ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะพบได้ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ แม้ว่าจะได้รับความนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ แต่มีข้อควรระวังคือให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับยางของแต่ละส่วนของไม้ชนิดนี้ที่มีสีขาว ลักษณะคล้ายน้ำนม เพราะอาจะทำให้เกิดอาการแพ้บริเวณผิวหนังที่ได้รับการสัมผัส ไม่ควรปลูกในบริเวณที่มีเด็กและสัตว์เลี้ยงเข้าถึงโดยง่ายเพื่อป้องกันการแพ้พิษยางได้

โฮย่าดาว โดยทั่วไปจะเรียกขานกันว่า สมุนไพรตะบา หรือต้นดาวขาวก็มี เป็นไม้เลื้อยอิงอาศัยกับต้นไม้ใหญ่ สามารถเติบโตได้ถึง 2 เมตร ลักษณะของใบจะเป็นทรงรี ใบหนามันเคลือบด้วยขี้ผึ้ง แต่ดอกที่ออกมาจะมีสีชมพูแต่ตรงกลางเป็นสีขาว ต่างจากโฮย่าประกายแก้ว ออกดอกเป็นกระจุกประมาณ 20 ดอก มีถิ่นกำเนิดในเอเชียอาคเนย์และสามารถพบได้ทั่วไปตามป่าละเมาะ ทุ่ง และบริเวณเนินหิน

ทั้งโฮย่าประกายแก้วและโฮย่าดาว เป็นพืชที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทั้งกลางแจ้งและปลูกในอาคาร ดูแลง่าย แต่ไม่ทนกับอากาศที่ร้อนจัด ควรรดน้ำให้ดินร่วนซุย ชุ่มชื้นและให้แสงแดดส่องถึง สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการชำ โดยตัดเอาลำต้น 2 ข้อและปลิดใบออก ปลูกในดินที่ชุ่มชื้นและระบายน้ำได้ดี แม้ว่าบางประเทศหรือบางพื้นที่จะมีการนำส่วนต่างๆ ของพืช 2 ชนิดมาใช้ประโยชน์ในแง่สมุนไพร แต่ในประเทศไทยเรานั้นไม่นิยมนัก เนื่องจากยางของพืชอาจมีพิษต่อร่างกาย ดังนั้นจึงถูกจัดเป็นไม้ประดับที่มีดอกสวยและให้กลิ่นหอมที่คนรักไม้ดอกนำมาปลูกไว้เพื่อความงามของที่อยู่อาศัยมากกว่าจะนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook