สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การเลี้ยงไก่พื้นเมือง เริ่มต้นจากการคัดเลือกลักษณะพ่อแม่พันธุ์

การเลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับคนไทยเรามายาวนาน โดยแต่เดิมนั้นจะมีการเลี้ยงกันตามบ้านเรือนทั่วไป เพื่อเก็บเกี่ยวไข่ไว้รับประทานในบ้านหรือนำเนื้อไก่มาเป้นอาหารบริโภค แต่ในยุคปัจจุบันไก่พื้นเมืองกลายเป็นสินค้าที่ขายได้ราคาดี จึงมีวิถีการเพาะเลี้ยงในเชิงการค้าเกิดขึ้น ดังนั้นจึงต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ในการเลี้ยง เพื่อให้ได้ผลกำไรสูงสุด ไม่ว่าจะเลี้ยงเพื่อขายเป็นไก่ที่ยังมีชีวิตหรือจะขายแบบเป็นเนื้อไก่ชำแหละสดก็ตาม ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางแผนรอบด้าน ตั้งแต่การเลือกสายพันธุ์ การจัดสร้างโรงเรือน การดูแลไก่ และการตลาด เรียกได้ว่าต้องวางแผนแบบครบวงจรทีเดียว

เริ่มจากการรู้จักสายพันธุ์ไก่พื้นเมือง ที่มักจะมีชื่อเรียกขานง่ายๆ ตามรูปลักษณ์หรือสีของขนที่ปกคลุมตัวไก่ เช่น ไก่นกแดง ไก่ชี ไก่เหลืองหางขาว เพียงได้ยินชื่อเราก็สามารถจินตนาการสีขนของไก่ได้แล้ว ส่วนพันธุ์การค้าที่มีการพัฒนาให้ได้ผลผลิตดีที่ได้รับการส่งเสริมจากกรมปศุสัตว์ คือ ประดู่หางดำ เพราะเป็นพันธุ์ที่โตไว ได้ผลผลิตดี โดยการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์นั้น จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยพ่อพันธุ์นั้นควรมีน้ำหนักมากกว่า 2.5 กิโลกรัม ในช่วงอายุ 7 เดือน – 3 ปี สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ให้ไข่ดก ส่วนแม่พันธุ์นั้นนอกจากมีความสมบูรณ์แล้ว ควรมีน้ำหนักตัวมากกว่า 1.5 กิโลกรัม อายุ 7 เดือน-3 ปี สามารถให้ไข่ได้มากกว่า 12 ฟองต่อครอก และให้ไข่อย่างน้อย 4 ครอกต่อปี นิสัยไม่ดุร้าย เลี้ยงลูกไก่ได้ดี โดยในฝูงควรมีสัดส่วนไก่ตัวผู้ 1 ตัว ต่อ ตัวเมียไม่เกิน 8 ตัว เพื่อให้เกิดการผสมพันธุ์อย่างเหมาะสม

สำหรับการขั้นตอนการเลี้ยงลูกไก่นั้น เราอาจจะปล่อยให้แม่ไก่เลี้ยงลูกไก่เอง โดยให้แม่ไก่และลูกไก่อยู่ในกรงเดียวกัน ให้แม่ไก่กกลูกไก่ตามวิธีธรรมชาติ จนเมื่อลูกไก่เริ่มแข็งแรง มีอายุราว 14 วัน จึงค่อยปล่อยให้ลูกไก่เริ่มออกหากินไปกับแม่ไก่ เมื่ออายุครอบ 1 เดือนจึงจับลูกไก่แยกกรง และให้แม่ไก่เตรียมให้ไข่ในรอบถัดไป โดยในช่วงที่เริ่มแยกลูกไก่จากแม่ไก่นั้น เราต้องทำการดูแลเรื่องอาหารและน้ำให้แก่ลูกไก่อย่างใกล้ชิดต่อไปราว 1 เดือน เพราะเป็นช่วงที่ไก่ยังไม่สามารถหาอาหารได้ชำนาญนักและเป็นระยะที่ลูกไก่มีความเสี่ยงต่อการตายได้ หรืออาจจะเลือกวิธีแยกลูกไก่จากแม่ไก่ตั้งแต่แรกเกิดในกรงที่มีการปรับอุณหภูมิให้อบอุ่น แล้วค่อยๆ ปรับอุณหภูมิเพื่อให้ลูกไก่พื้นเมืองได้ปรับตัวได้ โดยเราเป็นผู้ดูแลเรื่องอาหารและน้ำอย่างใกล้ชิดก็ได้

นอกจากนี้ เรื่องรายละเอียดของการสร้างโรงเรือน สัดส่วนของโภชนะทางอาหาร การผสมพันธุ์ และรายละเอียดปลีกย่อยยังมีค่อนข้างมาก ผู้สนใจที่จะทำการเลี้ยงไก่พื้นเมือง สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้คู่มือการเลี้ยงไก่พื้นเมืองของกรมปศุสัตว์ หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงด้านล่าง

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook