สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เลี้ยงจิ้งหรีด แหล่งโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์

กระแสการเลี้ยงจิ้งหรีดเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มเพื่อนๆ เกษตรกรในบ้านเรา หลังจากที่ได้รับรู้กันว่าจิ้งหรีดเป็นแมลงที่เป็นแหล่งโปรตีนชั้นยอด และ “แมลงกินได้” ได้รับการยอมรับให้เป็น แหล่งอาหารแห่งอนาคตของโลก (Future Food)  จาก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพื่อใช้ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เพราะการเลี้ยงแมลงนั้นใช้อาหารสำหรับเลี้ยงและระยะเวลาในการเลี้ยงน้อยกว่าสัตว์ใหญ่หลายชนิด เรียกได้ว่า การเลี้ยงแมลงกินได้ เพื่อเป็นแหล่งทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และประเทศไทยเรามีความพร้อมในการเป็น ศูนย์กลางการผลิตจิ้งหรีดสู่ตลาดโลด เพราะเราสั่งสมประสบการณ์การเลี้ยงแมลงกินได้หลายชนิดมายาวนาน และการรับประทานแมลงกินได้ยังอยู่ในวิถีการบริโภคของคนไทยเรามาช้านานด้วย

กระบวนการการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหารนั้น จำเป็นต้องใส่ใจในทุกกระบวนการ ตั้งแต่สถานที่ตั้งที่ห่างไกลจากการปนเปื้อนของสารเคมีต่างๆ ไม่ว่าจะปนเปื้อนมาทางน้ำ ทางดิน หรือทางอากาศ เพราะย่อมส่งผลกระทบต่อจิ้งหรีดและอาจส่งผลกระทบไปยังผู้บริโภคได้ ส่วนของโรงเรือนนั้น ต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ ไม่อับชื้น ปราศจากเชื้อโรค และมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ดังนั้นควรจัดสร้างหลังคาที่สูงตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป สำหรับบ่อเลี้ยงจิ้งหรีดนั้น สำหรับผู้เลี้ยงมือใหม่ อาจจะเลือกใช้กาละมัง หรือถังเป็นบ่อเลี้ยง แต่หากจะผลิตแบบมาตรฐานเชิงการค้าแล้วสามารถใช้บ่อซีเมนต์หรือบ่อไม้อัดก็ได้ขึ้นอยู่กับต้นทุนของผู้เลี้ยง ซึ่งข้อดีของบ่อซีเมนต์ คือ มีอายุการใช้งานนาน ดูแลเรื่องสุขลักษณะและความสะอาดได้ง่ายแต่บ่อไม้อัดนั้นจะใช้ต้นทุนน้อยกว่า โยกย้ายตำแหน่งการจัดวางได้ แต่อาจจะทำความสะอาดได้ไม่สะดวกนัก

ในบ่อเลี้ยงจะต้องมีแผงไข่แบบกระดาษหรืออาจจะเลือกใช้วัสดุธรรมชาติอย่างหญ้าแห้งหรือกาบมะพร้าวแทนก็ได้ เพื่อเป็นที่อยู่ของจิ้งหรีด โดยต้องมีที่อยู่ของจิ้งหรีดราวครึ่งบ่อเพื่อให้จิ้งหรีดใช้เป็นที่อยู่ช่วงลอกคราบ นอกจากนี้ต้องมีอุปกรณ์ใส่น้ำสะอาด อุปกรณ์ใส่อาหาร ขันที่มีขนาดความกว้างประมาณ 16-20 เซนติเมตรสำหรับวางไข่ และปากบ่อต้องมีมุ้งตาข่ายปิดไว้เพื่อป้องกันจิ้งหรีดออหจากบ่อและเป็นการป้องกันไม่ให้สัตว์อื่นมาทำร้ายจิ้งหรีดได้

ส่วนของกระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดในแต่ละช่วงวัยก็จะแตกต่างกันไป เริ่มตั้งแต่การบ่มไข่ การย้ายไข่จิ้งหรีดลงบ่อเลี้ยง การดูแลจิ้งหรีดตัวอ่อน ตัวโตเต็มวัย การดูแลช่วงผสมพันธุ์ ซึ่งแต่ละช่วงอายุจะมีการใส่ใจพิเศษทั้งเรื่องการให้อาหาร การให้น้ำ การวางภาชนะต่างๆ ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของแมลง เกษตรกรที่สนใจเลี้ยงควรต้องศึกษาอย่างละเอียด และนำไปปฏิบัติให้เหมาะสม เพื่อจะได้จิ้งหรีดที่มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอที่จะสร้างผลกำไรให้แก่ผู้เลี้ยงต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook