สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

จิ้งหรีด แมลงตัวเล็กมากโปรตีน

จิ้งหรีด เป็นแมลงในวงศ์ Gryllidae ซึ่งมีแมลงหลายชนิดรวมกันราว 2,400 ชนิดทั่วโลก เป็นแมลงตัวเล็ก แต่ส่งเสียงขับร้องได้ไกลและกังวานที่จิ้งหรีดตัวผู้จะขับร้องเสียงเพลงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากจิ้งหรีดตัวเมียเพื่อเชิญชวนให้จิ้งหรีดตัวเมียมาผสมพันธุ์ โดยใช้เสียงหรีดหริ่งมาต่อสู้กับตัวผู้ตัวอื่นเพื่อแย่งชิงตัวเมีย

จิ้งหรีด มีลักษณะลำตัวที่แบ่งออกเป็นสามส่วน  ได้แก่ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง บริเวณหัวจะมีตา หนวด และปากสำหรับกินอาหาร ส่วนอกเป็นส่วนตรงกลางของลำตัว โดยส่วนใหญ่ที่พบจะมีขาสามคู่และปีกสองคู่ บริเวณท้องมีอวัยวะย่อยอาหารและสืบพันธุ์ ขนาดลำตัวของจิ้งหรีดแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดและสายพันธุ์ ตั้งแต่ความยาวไม่กี่มิลลิเมตรไปจนถึงมากกว่า 5 เซนติเมตร สีของลำตัวจะแตกต่างกันไป มีทั้งสีดำ สีน้ำตาล สีน้ำตาลเหลื่อมเขียว โดยสีของลำตัวนั้นจะช่วยในการพลางตัว หลบภัยและดึงดูดเพศตรงข้าม อวัยวะต่างๆ ใช้ประโยชน์ ดังนี้ ขาใช้เพื่อการเคลื่อนตัวและการกระโดดและเดินบนพื้นผิวที่หลากหลาย ขามีความแข็งแรงและยืดหยุ่น มีกล้ามเนื้อที่ช่วยให้เคลื่อนไหวได้รวดเร็วและแม่นยำ เช่นเดียวกับโครงสร้างประสาทสัมผัสที่ขาที่ช่วยให้ตรวจจับและตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้  หนวดเป็นอวัยวะคอยสำรวจและตรวจจับสัญญาณเคมีและสภาพแวดล้อมรอบตัว ปีกใช้สำหรับบินและส่งสัญญาณเสียง

แม้เราจะรู้จักจิ้งหรีดกันมาตั้งแต่เด็กและพบเห็นว่าเป็นแมลงที่ถูกนำมาคั่วหรือทอดขายเป็นอาหารตามรถเข็นริมบาทวิถี ดังที่นักวิจัยได้ระบุว่า ในประเทศไทยจิ้งหรีดเป็นอาหารว่างริมทางยอดนิยม (van Huis et al., 2013)   โดยที่พวกเราอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรมากนัก  แต่ปัจจุบัน การใช้จิ้งหรีดเป็นแหล่งอาหารได้รับความนิยมในประเทศทางตะวันตก เนื่องจากมีประโยชน์ทางโภชนาการและสิ่งแวดล้อม เพราะจิ้งหรีดเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีเยี่ยมและมีสารอาหารที่จำเป็นต่าง ๆ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามินบี 12 การศึกษาขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่าจิ้งหรีดมีโปรตีนสูงถึง 69% ซึ่งสูงกว่าปศุสัตว์ทั่วไป เช่น เนื้อวัวและเนื้อหมู (Rumpold and Schlüter, 2013) นอกจากนี้ยังมีไขมันและคาร์โบไฮเดรตต่ำ ทำให้เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (Payne et al., 2016)

จิ้งหรีดกินได้ถือเป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืน เพราะการเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นต้องการน้ำและที่ดินในการเลี้ยงน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารแบบดั้งเดิมอย่างมาก และปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า (van Huis et al., 2013) แม้ว่าแนวคิดในการบริโภคแมลงอาจไม่คุ้นเคยสำหรับบางคน แต่กำลังได้รับความนิยมในประเทศแถบตะวันตก ปริมาณโปรตีนสูง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ทำให้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับอนาคตของการผลิตอาหารประเภทโปรตีนของโลก ทำให้เกษตรกรหลายรายหันไปผลิตจิ้งหรีดกันอย่างจริงจังกันเลยทีเดียว

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook