สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกข้าวโพดไร่ลูกผสมพันธุ์รับรองที่พัฒนาโดยภาครัฐเพื่อปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้ง

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเป็นแหล่งอาหารและมีศักยภาพในการเป็นพืชพลังงานทดแทนในอนาคต พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปี 2562 มีจำนวน 6,882,193 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิต 6,675,439 ไร่ ได้ผลผลิต 4,734,130 ตัน ได้ผลผลิตเฉลี่ย 709 กก./ไร่ อย่างไรก็ตาม เป็นผลผลิตที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2561 โดยลดลง 259,007 ตัน (ร้อยละ 5.19) และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง 18 กก./ไร่ (ร้อยละ 2.48) (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2562) เนื่องจากภัยแล้งและการกระจายของฝนที่ไม่เหมาะสมในช่วงฤดูปลูกข้าวโพด และการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อปี แต่ผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยในปี พ.ศ. 2560/2561 มีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 8.1 ล้านตัน (สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ, 2563)  ขณะที่การผลิตข้าวโพดในประเทศมีเพียง 5.1 ล้านตัน จึงต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน หากประเทศไทยไม่สามารถเพิ่มการผลิตในประเทศได้จะส่งผลให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งอาจเป็นปัญหาในอนาคตได้

ทางออกหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คือ การขยายพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย เนื่องจากเกษตรกรจำนวนหนึ่งหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และลดต้นทุนให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น

สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกข้าวโพดไร่ลูกผสมพันธุ์รับรองที่พัฒนาโดยภาครัฐเพื่อปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้ง” ซึ่งมี ว่าที่ร้อยตรีโรจนพงศ์ ไชยสิทธิ์ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการด้านอัตราปุ๋ยและความหนาแน่นประชากรที่เหมาะสมกับศักยภาพการให้ผลผลิตของพันธุ์ลูกผสมพันธุ์รับรองที่พัฒนาโดยภาครัฐ และทดสอบเสถียรภาพการให้ผลผลิตของพันธุ์ลูกผสมภายใต้อัตราปุ๋ยและความหนาแน่นประชากรที่แตกต่างกันใน 3 ฤดูปลูก เพื่อนำองค์ความรู้ในการจัดการปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมในการผลิตข้าวโพดไร่ มาพัฒนาเป็นคำแนะนำในด้านพันธุ์และเทคโนโลยีการจัดการพันธุ์ที่หมาะสมสำหรับเกษตรกร และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มเกษตรกผู้ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งในดินไร่และข้าวโพดหลังนา เพื่อใช้ในการปฏิบัติได้จริง เหมาะสมกับพื้นที่และฤดูกาลปลูกของเกษตรกรแต่ละราย ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวโพด นำไปสู่ผลตอบแทนและรายได้ที่สูงขึ้นของเกษตรกรและตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook