สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพยากรณ์ฝนความละเอียดสูง เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย

ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย มักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำบางพื้นที่และขาดแคลนน้ำตามฤดูกาล หลายพื้นที่ประสบปัญหาจากอุทกภัยที่มีสาเหตุจากป่าไม้บริเวณต้นน้ำลำธารถูกทำลาย และเมื่อพิจารณาขอบเขตการวิจัยตามกรอบด้านการบริหารจัดการน้ำในแง่ของ Issue Base จะพบว่า ภาคเหนือตอนบนยังขาดการพัฒนาแบบจำลองการพยากรณ์ฝน ที่มีความละเอียดเชิงพื้นที่และเชิงเวลาเพื่อใช้สนับสนุนการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำ ประชาชนขาดข้อมูลและยังเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้น้อย เพราะปัจจุบันข้อมูลการพยากรณ์อากาศที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ คือ ข่าวพยากรณ์อากาศที่รายงานสภาพอากาศในระดับภูมิภาค และเว็บไซด์ที่สามารถพยากรณ์อากาศไม่เกิน 7 วัน ที่มีความละเอียดระดับจังหวัด หรือกรณีแอพพลิเคชั่นการพยากรณ์อากาศที่สามารถดาวน์โหลดในสมาร์ทโฟน พบว่า ยังคงมีข้อจำกัดด้านระยะเวลาการพยากรณ์อากาศที่ไม่เกิน 7 วัน และหลายแอพพลิเคชั่นทำการย่อส่วน (downscaling) ข้อมูลด้วยวิธีทางสถิติ ซึ่งการย่อส่วนด้วยใช้วิธีทางสถิติเพียงอย่างเดียวอาจลดความสำคัญด้านความหลากหลายทางกายภาพ หรือลดมิติเชิงพื้นที่ไป

ดังนั้น เพื่อการพัฒนาโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมาย 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ความสูญเสียในชีวิตและและทรัพย์สินที่เกิดจากสาธารณภัยลดลง ในตัวชี้วัดที่ 5.1 ระบบพยากรณ์อากาศและเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับภาคเกษตรและการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติในพื้นที่เสี่ยงภัย ทางศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จึงมีแนวทางที่จะพัฒนาระบบการพยากรณ์อากาศที่สามารถส่งเสริมกับหน่วยงานหลักที่ให้บริการข้อมูลด้านสภาพอากาศของประเทศให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาระบบการพยากรณ์อากาศที่มีความละเอียดสูง (4 กิโลเมตร) และให้บริการข้อมูลพยากรณ์อากาศตามที่ประชาชนในท้องถิ่นต้องการ (Bottom-Up) ผู้ใช้งานสามารถระบุพื้นที่ที่ต้องการพยากรณ์อากาศโดยเลือกความละเอียดระดับตำบล หรือในกรณีผู้ใช้งานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเชิงพื้นที่สามารถระบุตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ได้ ทำให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น

สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพยากรณ์ฝนความละเอียดสูงเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย” โดยมี ผศ.ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ ศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม  คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อต่อยอดผลผลิตระบบพยากรณ์อากาศความละเอียดสูงที่ได้วิจัยและพัฒนาก่อนแล้วให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เน้นการพัฒนาระบบพยากรณ์ฝนความละเอียดสูงทั้งเชิงพื้นที่และเชิงเวลาและปรับแก้ผลการพยากรณ์ฝนความละเอียดสูงให้ถูกต้องแม่นยำด้วยวิธีทางสถิติและพลวัต เพื่อจัดการข้อมูลให้พร้อมต่อการเผยแพร่และบริการแก่ผู้ต้องการใช้ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาคเหนือตอนบน ทั้งการพยากรณ์น้ำฝนและตัวแปรทางอุตุนิยมวิทยาอื่น ๆ พร้อมทั้งพัฒนากำลังคน (ประชาชนแกนนำ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ) ด้วยวิธีอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมให้ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และนอกภาครัฐ รับรู้ช่องทางการเข้าถึงข้อมูล เรียนรู้ข้อมูลพยากรณ์อากาศ และสามารถนำมาประยุกต์วางแผนจัดการทรัพยากรน้ำได้

ระบบพยากรณ์ฝนภายใต้โครงการวิจัยนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกระดับ โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ได้รับผลกระทบจากทรัพยากรน้ำสามารถใช้ข้อมูลการพยากรณ์ฝนประกอบการตัดสินใจวางแผนจัดการน้ำ สามารถลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยที่เกี่ยวกับน้ำ (อุทกภัย ภัยแล้ง และวาตภัย) รวมไปถึงการลดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook