สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพัฒนาชุดตรวจภูมิคุ้มกันของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นโรคที่ร้ายแรงสำหรับสุกร เป็นโรคติดต่อละส่งผลกระทบต่อสัตว์ในตระกูลสุกร เป็นปัญหาใหญ่ในหลายๆ แห่งทั่วโลก รวมถึงแอฟริกา ยุโรป อเมริกาใต้ และบางส่วนของเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม และกัมพูชา โรคนี้ก่อให้เกิดการตายในสุกร โดยมีอัตราการตายเกือบ 100% ในสุกรที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน และเป็นโรคคที่ยังไม่มียาหรือวัคซีน เมื่อเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรและเศรษฐกิจได้อย่างมาก

แม้ว่าจะไม่มีรายงานการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญคือต้องเฝ้าระวังสุกรที่เคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยและเคยเกิดการระบาดของโรค เช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยวิธีการมาตรฐานในปัจจุบันสำหรับการตรวจหาเชื้อหรือแอนติเจนด้วยวิธี Real-time PCR เมื่อสุกรติดโรค ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากแสดงอาการ อย่างไรก็ตาม ยังพบไวรัสบางสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงต่ำ ซึ่งไม่ทำให้สุกรตายหรือไม่แสดงอาการใด ๆ หลังจากได้รับเชื้อไวรัส แต่สุกรเหล่านี้ยังสามารถแพร่เชื้อไวรัสและอาจแพร่เชื้อไปยังหมูตัวอื่นๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่กระจายของโรค

ดังนั้นการใช้การตรวจหาระดับของแอนติบอดี้ในสุกรจึงมีความสำคัญในการคัดกรองสุกรก่อนนำเข้ามาในประเทศ รวมถึงการตรวจโรคนี้ในหมูป่าที่สามารถติดเชื้อไวรัสอหิวาห์แอฟริกาได้แต่เป็นพาหะของโรค ซึ่งการยืนยันการติดโรคจำเป็นที่จะต้องใช้การตรวจหาแอนติบอดี้แทนการตรวจหาการมีอยู่ของเชื้อไวรัส พบว่าในสุกรที่รอดชีวิตนั้นจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้ 7-10 วันหลังได้รับเชื้อ ปัจจุบันวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจหาแอนติบอดี้ต่อโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกรคือการใช้ ELISA อย่างไรก็ตามวิธีดั้งเดิมที่ได้รับการแนะนำจาก OIE ที่ใช้การเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสแล้วนำมาทำเป็นแอนติเจนเพื่อตรวจหาแอนติบอดี้นั้นเป็นวิธีที่สามารถใช้ได้แต่ยังมีข้อบกพร่องในเรื่องของความสม่ำเสมอของการตรวจรวมถึงความเสี่ยงในเรื่องของการใช้เชื้อไวรัสที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายและปนเปื้อนของไวรัสได้ นอกจากนี้การพัฒนาวิธีการตรวจหาแอนติบอดี้โดยการใช้ชุดตรวจเร็ว Lateral flow chromatography assay นั้นสามารถใช้เป็นตัวเสริมที่ช่วยในการตรวจหาแอนติบอดี้ได้เร็วมากขึ้นและสามารถใช้ในการคัดกรองโรคในภาคสนามได้เป็นอย่างดี

สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนาชุดตรวจภูมิคุ้มกันของโรคโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” โดยมี น.สพ.ดร. อรรถพล กำลังดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อพัฒนาวิธีการตรวจหาแอนติบอดี้ ทดสอบความใช้ได้ (validation) และ ทดสอบหาความไวและความจำเพาะของชุดตรวจหาแอนติบอดี้ด้วยวิธี Indirect ELISA และ Lateral flow immunochromatographic assay เทียบกับวิธี Real-time PCR เพื่อนำมาใช้เป็นชุดตรวจภาคสนามเนื่องจากเป็นวิธีที่ใช้งานง่ายไม่ยุ่งยากและรอผลไม่นาน ทำให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และสัตวแพทย์สามารถคัดกรองการนำเข้าสุกรจากต่างประเทศได้เร็วขึ้น  ลดการนำเข้าชุดตรวจจากต่างประเทศได้ และยังป้องกันการติดเชื้อโรคระบาดดังกล่าวในประเทศไทย ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมีความมั่นใจในการเลี้ยงสุกรมากยิ่งขึ้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook